The Countryside of Chithurst

Reflections of Buddhist monastic life in England

ปราชญ์กับเป็ด

Posted by phrajew บน สิงหาคม 23, 2006

 

นักเขียนประจำคอลัมน์ที่เคยติดตามผลงานมาตั้งแต่เรียนมัธยมคืออาจารย์สมศรี สุกมลนันท์  เหตุที่ได้อ่านทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเพราะในสมัยเด็กเติบโตมากับ สตรีสารภาคเยาวชนที่มักจะมีเกมคำศัพท์ ปริศนาอักษรไขว้ และนิทานซึ่งชวนให้อ่านอยู่ทุกฉบับ  ต่อมาก็ขยับขึ้นมาอ่านภาคหนุ่มสาวที่มีนักเขียนวัยแรกรุ่นส่งผลงานไปลงตีพิมพ์  ทำให้พลอยได้อ่านคอลัมน์ของอาจารย์สมศรีที่มีอยู่ประจำในนิตยสารเล่มนั้นด้วย

 

สำนวนการเขียนของอาจารย์สมศรีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะแต่ละประโยคค่อนข้างห้วนสั้น ไม่ค่อยมีคำเชื่อม  แต่น่าแปลกว่าเราสามารถติดตามความคิดของผู้เขียนได้อย่างลื่นไหล  เรื่องที่น่าทึ่งคืออาจารย์สมศรีเขียนหนังสือได้น่าอ่านไปเสียทุกเรื่อง และไม่ว่าเขียนถึงอะไร อาจารย์ก็จะเห็นแง่มุมที่น่าสนใจอยู่เสมอ  เข้าทำนองนักปราชญ์ที่มีความรอบรู้กว้างขวางและลุ่มลึก ไม่ต่างจากพระยาอนุมานราชธนซึ่งบิดาของท่าน

 

ท่าทีของผู้ใหญ่ใจกว้าง พร้อมจะเปิดรับความเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดยืนของตนเองอย่างมั่นคง สะท้อนออกมาจากการเขียน และส่งอิทธิพลต่อความคิดของผู้อ่านโดยไม่รู้ตัว  เพราะสังเกตได้ว่ามักจะให้ความเคารพนับถือกับผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเช่นนี้เป็นพิเศษ  และในช่วงชีวิตตั้งแต่เรียนมัธยมก็มีเหตุพ้องพานให้ได้รู้จักคุ้นเคยกับผู้ใหญ่หลายท่านที่มีท่าทีเปิดกว้างเช่นนี้  ทำให้ไม่รู้เคอะเขินเวลาอยู่กับผู้ใหญ่และกล้าที่จะซักถามหรือแสดงความคิดเห็นในเชิงโต้แย้งโดยไม่ทำให้ท่านรู้สึกขัดเคือง 

เมื่อใดที่พบผู้ใหญ่ซึ่งไม่ยินดีต่อการแลกเปลี่ยน ก็เพียงแค่ถอยออกมาให้ห่างและพยายามที่ใช้ชีวิตในทางที่จะไม่หมุนเวียนไปพบกันอีกเท่านั้น  และด้วยความที่ไม่ค่อยเก็บเอาบุคคลเหล่านี้มาใส่ใจ จึงมักจะเอ่ยขอบคุณชีวิตได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าพบเจอแต่คนดี ๆ ที่ช่วยให้สติปัญญาก้าวหน้าขึ้น  และหากปราศจากผู้ใหญ่ที่เป็นเสมือน ครูพักลักจำเหล่านั้น เราคงเป็นคนที่มีจิตใจคับแคบกว่าที่เป็นอยู่มากนัก 

ครั้นเรียนมหาวิทยาลัย ได้ศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์ซึ่งส่งเสริมให้มีความรู้รอบตัวที่หลากหลาย  วิชาพื้นฐานในชั้นปีต้น ๆ ครอบคลุมเนื้อหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาศาสตร์ การเมืองการปกครอง วิทยาศาสตร์  สังคมและวัฒนธรรม กฎหมาย ศิลปะ หรืออื่น ๆ ที่จำได้ไม่หมด เพราะดูเหมือนจะเรียนไปทั่วทุกสาขา  ความรู้แบบนี้มีคนล้อกันว่าเป็นความรู้แบบเป็ดที่ว่ายน้ำได้แต่ก็ไม่เท่ากับปลา  หรือบินได้แต่ก็ไม่เหมือนนก  พูดสั้น ๆ ว่ารู้กว้างแต่ไม่รู้ลึก 

สมัยที่เรียนก็ทำตามที่หลักสูตรกำหนดไว้อย่างนั้นเอง  เพราะไม่รู้จุดหมายว่าเรียนไปเพื่ออะไร  แต่เมื่อต้องเลือกภาควิชาในช่วงสองปีสุดท้ายกลับรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ตั้งใจเรียน  เวลาที่นึกจะใช้ก็เลยต้องกลับไปอ่านใหม่ซึ่งหลายครั้งเวลาไม่เอื้ออำนวยจะให้ทำอย่างนั้นได้ 

 

โศกนาฏกรรมทางการศึกษาในสังคมไทยประการหนึ่งคือ การที่ผู้หลักผู้ใหญ่คิดวางแผนให้เบ็ดเสร็จ  หลักสูตรทางวิชาการแทบทุกสาขาจึงเป็นแบบสำเร็จรูป ไม่มีการยืดหยุ่น ผู้เรียนมีหน้าที่ เก็บหน่วยกิตให้ครบตามหลักสูตรก็เป็นอันว่าใช้ได้  พื้นฐานความคิดของการวางหลักสูตรเช่นนี้คือ การไม่เชื่อว่าผู้เรียนจะสามารถคิดหรือเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จึงไม่ยอมเปิดช่องทางให้มีการเลือกอย่างอิสระซึ่งยากแก่การบริหารจัดการ  การเรียนรู้ในระบบการศึกษาจึงไม่มีความหมายอะไรกับชีวิตมากนัก และไม่ชวนให้เกิดความสุขในการเรียนรู้อย่างที่คาดหวังเอาไว้ 

วันเวลาล่วงเลยมากว่าสิบปี ท่าทีของการวางหลักสูตรยังเป็นไปแบบเดิม มีแต่จะเพิ่มว่าควรจะเรียนอะไรให้มากขึ้นเท่านั้น  ยังไม่เคยได้พบการตั้งต้นที่เป้าหมายของผู้เรียนแล้วพัฒนาการเรียนรู้ไปตามความต้องการนั้นเลย แม้กระทั่งหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่เน้นการสร้างความรู้ใหม่ในแต่ละสาขา  เท่าที่เป็นอยู่ก็ยังคงเป็นการ เก็บหน่วยกิตอยู่เช่นเดิม

 

หากมองการเรียนรู้ตามแง่มุมทางพุทธศาสนา  สิ่งที่ครูบาอาจารย์จะให้ได้มีเพียงคำชี้แนะที่เป็นเสมือนแผนที่การเดินทางและการสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนสงฆ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้เท่านั้น  หน้าที่ในการเรียนรู้เป็นของแต่ละบุคคลที่จะต้องแสวงหาปัญญาด้วยตนเอง  ใช้ประสบการณ์ในชีวิตของตนเองเป็นตัวตั้งแล้วค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะฝึกฝนขัดเกลาตนเองไปจนกระทั่งบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

 

 

อย่างไรก็ตาม  ความรอบรู้ที่กว้างขวางนั้นแม้จะมีประโยชน์ แต่หากขาดความลุ่มลึกที่จะเป็นแก่นแกนให้ความรู้ทั้งหลายมาเกาะเกี่ยวแล้ว  สิ่งที่ได้เรียนรู้มาก็กระจัดกระจาย และเปลี่ยนแปรไปตามกระแสแห่งความคิดเห็นรอบข้าง เราจึงมักจะพบนักวิชาการหลายท่านที่ใช้ความรู้ของตนเพื่อสนองตอบกับอำนาจและผลประโยชน์ หรือไม่ก็แสดงความคิดเห็นกันอย่างไร้ทิศทาง ต่างคนต่างตรงดิ่งไปในทางของตนเอง

 

ตรงกันข้ามกับบุคคลอย่างอาจารย์พุทธทาส อาจารย์สมศรี สุกุมลนันท์ อาจารย์ระพี สาคริก อาจารย์เจตนา นาควัชระ และอีกหลาย ๆ ที่มีการกลั่นกรองและตกผลึกทางความคิดอย่างชัดเจน  ท่านเหล่านี้จึงสามารถนำความรอบรู้ในตัวเองออกมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด และไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ท่านย่อมมีจุดยืนที่มั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามกระแสสังคม  ความแตกต่างระหว่าง ปราชญ์กับ เป็ดก็คงจะอยู่ที่จุดยืนนี้นั่นเอง

มีการตอบกลับหนึ่งครั้ง to “ปราชญ์กับเป็ด”

  1. soilmatter said

    นมัสการนะครับ
    เรื่องหลักสูตร ผมว่านอกจากจะเกือบสำเร็จรูป บางขแนงวิชาอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์ก็มีหลายค่ายหลายฝ่าย แต่ก็กลับให้เรียนแต่เฉพาะแบบกระแสหลัก(หรือทุนนิยม)เท่านั้น ไม่มีการให้เรียนของสำนักอื่นๆ พูดง่ายๆก็คือกะว่าจะสอนให้เราเข้าสู่ตลาดแรงงานลูกเดียวเท่านั้น

ส่งความเห็นที่ soilmatter ยกเลิกการตอบ