The Countryside of Chithurst

Reflections of Buddhist monastic life in England

Archive for สิงหาคม 25th, 2006

ดอกไม้สำหรับอัลเจอร์นอน

Posted by phrajew บน สิงหาคม 25, 2006

อัลเจอร์นอนเป็นหนูทดลองตัวหนึ่ง  ก่อนเวลาอาหารของทุกวัน อัลเจอร์นอนจะถูกปล่อยลงในเส้นทางวงกตและจะต้องพยายามหาทางออกให้ได้  มิฉะนั้นก็จะไม่ได้กินอาหารที่วางล่อไว้ตรงปากทาง  ทุก ๆ วันนักวิทยาศาสตร์ก็จะเฝ้าสังเกตการลองผิดลองถูกของอัลเจอร์นอนว่าสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนเองหรือไม่

อัลเจอร์นอนถูกใช้ในการทดลองคู่ขนานไปกับชาร์ลี กอร์ดอน ชายหนุ่มผู้พิการทางสติปัญญาซึ่งสมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัยเรื่องนี้  สติปัญญาของทั้งคู่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งชาร์ลีกลายเป็นบุคคลอัจฉริยะที่เฉลียวฉลาดกว่านักวิทยาศาสตร์เจ้าของโครงการเสียอีก  บันทึกประจำวันของเขาสะท้อนให้เห็นพัฒนาการจากการสะกดคำคำง่าย ๆ อย่างผิดพลาด  จนกระทั่งสามารถใช้ภาษาที่ซับซ้อนอธิบายปรากฏการณ์อัลเจอร์นอน-กอร์ดอนที่เขาค้นคว้าและทดลองได้ด้วยตนเอง

ความเฉลียวฉลาดที่ได้มากลับกลายเป็นดาบสองคมสำหรับชาร์ลี  โลกที่เคยรับรู้และเข้าใจกลับกลายเป็นตรงกันข้าม  คนที่เคยรู้สึกว่าเป็น เพื่อนนั้นแท้ที่จริงเห็นเขาเป็นเพียงตัวตลกคนหนึ่งเท่านั้น  ความสัมพันธ์กับครูผู้หญิงที่เคยสอนเขามาทำท่าว่าจะจริงจังขึ้น แต่แล้วเธอก็ทนความฉลาดของเขาไม่ได้  และแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองร่วมกับชาร์ลีก็รู้สึกเสียหน้าเมื่อเห็นเขาฉลาดกว่า  ชาร์ลีเริ่มรู้สึกซึมเศร้าและเกลียดชังสติปัญญาของตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสังเกตพบว่าสติปัญญาของอัลเจอร์นอนลดลงอย่างรวดเร็ว  ชาร์ลีก็สรุปผลการค้นคว้าของตนเองว่าการเพิ่มพูนสติปัญญาเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น  ในที่สุดอัลเจอร์นอนก็เสียชีวิตไปท่ามกลางความสงสัยว่าผลการรักษาจะทำให้ชาร์ลีต้องพบจุดจบเช่นเดียวกันหรือไม่  บันทึกในช่วงสุดท้ายของชาร์ลีแสดงถึงความพยายามที่จะยื้อยุดกับสติปัญญาที่เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว  คำร้องขอสุดท้ายของเขาก่อนที่จะหายตัวไป คือ ขอให้ช่วยวางดอกไม้บนหลุมฝังศพของอัลเจอร์นอนด้วย please if you get a chanse put some flowrs on Algernons grave in the bak yard…“. 

เรื่องราวที่เล่ามานี้ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นที่ได้อ่านเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังคงจำเนื้อหาบางส่วนและความรู้สึกหลังการอ่านได้  ต้องขอบคุณเทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ตที่ทำให้ค้นหาข้อมูลของเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลฮูโกเมื่อปีค.ศ. 1960 (พ.ศ.2503 ) กลับคืนมาจนได้  แดเนียล คียส์ ผู้เขียนเรื่องนี้ได้ขยายเรื่องให้เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ขนาดสั้นและได้รับรางวัลเนบิวลาในอีกหกปีถัดมา โศกนาฏกรรมของชาร์ลี กอร์ดอนสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านมากมายเพียงไร  สามารถวัดได้จากบทละครและภาพยนตร์จำนวนมากที่ดัดแปลงจากเค้าโครงเรื่องดังกล่าว  นวนิยายอีกหลายเรื่องได้เดินตามรอยไม่ว่าจะเป็นกลวิธีในการเขียนหรือการสร้างตัวละครที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่อง Charly ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องนี้ยังส่งผลให้ Cliff Robertsonได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมในปี พ.ศ. 2511 อีกด้วย 

การแสวงหาสติปัญญาของมนุษยชาติเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกาลเวลา  แม้ว่านวนิยายเรื่อง ดอกไม้สำหรับอัลเจอร์นอน จะมีอายุยาวนานกว่าสี่สิบปี  แต่สาระที่ได้จากการอ่านไม่ใช่เรื่องเก่าเลย    การต่อสู้ดิ้นรนของชาร์ลีที่แม้จะรู้ว่าต้องพ่ายแพ้ในที่สุด หากก็ยังไม่ยอมลดละความพยายาม เป็นดั่งวีรกรรมของสามัญชนที่งดงามจับใจ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อยสักเพียงใด สิ่งที่มนุษย์เราจะทำได้มีเพียงความพยายามอย่างเต็มที่แล้วยอมรับผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ นวนิยายดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ความรู้หรือความเชี่ยวชาญใด ๆ หากไม่ประกอบด้วยความเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง ย่อมนำไปสู่ความทุกข์ทรมานได้อีกรูปแบบหนึ่ง  การเรียนรู้ที่จะยอมรับและทำใจให้เป็นสุขได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือบุคคลเช่นไร  เป็นเสมือนกุญแจที่จะเปิดประตูไปสู่ความเป็นจริง  ทั้งนี้เพราะชีวิตที่แท้นั้นไม่มีอะไรเป็นไปตามความคาดหวังของเรา ไม่ว่าจะพึงพอใจหรือไม่  ชีวิตก็ยังดำเนินไปอย่างที่พึงจะเป็นตลอดกาล

Posted in books | 2 Comments »