The Countryside of Chithurst

Reflections of Buddhist monastic life in England

ไม่ได้ดั่งใจ

Posted by phrajew บน ตุลาคม 12, 2006

 

ใจของคนเรานั้นแสนจะสลับซับซ้อน  ความสนุกอย่างหนึ่งของนักปฏิบัติธรรมคือ การมองเห็นกลไกในจิตใจของตนเองที่สามารถสร้างความทุกข์ความกังวลใจได้ในชั่วพริบตา  แน่นอนว่าอารมณ์ต่าง ๆ ย่อมไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่น่าพึงพอใจนัก  แต่การรู้จักถอนตัวออกมามอง แทนที่จะกระโจนเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอารมณ์นั้น อาจสร้างความสุขอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมาทดแทน  ความสุขที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจของตนเองนี้ ภาษาทางพระเรียกว่า สุขจากปัญญา   

คนทั่วไปมักรังเกียจความทุกข์ และอยากหนีให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้  แต่หากทุกข์นั้นเกิดขึ้นในใจ  เราย่อมไม่อาจจะหนีไปไหนได้  ทางออกที่มักจะใช้กันคือเพิกเฉยไม่ใส่ใจ หรือไม่ก็หาทางเบี่ยงเบนด้วยการหาอะไรที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นจนลืมความทุกข์นั้นไปได้ชั่วคราว  การรู้จักหลบหลีกนี้เป็นกลยุทธ์ที่ดีในเวลาที่ความทุกข์นั้นหนักหนาเกินกว่าจะเผชิญได้ในช่วงเวลานั้น แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่าปัญหายังคงอยู่ และไม่ทำให้การหลีกหนีเบี่ยงเบนนั้นกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก 

บรรดาพระสงฆ์ในระดับครูบาอาจารย์ที่น่าเคารพนั้น ท่านพูดถึงความทุกข์กันบ่อยครั้งมาก  ไม่เชื่อก็ลองไปนั่งนับดูว่าในระหว่างการเทศน์บรรยายธรรมหรือแม้กระทั่งการสนทนาในชีวิตประจำวัน ท่านเอ่ยถึง ทุกข์มากน้อยเพียงใด  ว่ากันว่าพระภิกษุในครั้งพุทธกาล เมื่อพบปะกัน ท่านมักจะทักทายกันว่า ยังพอทนได้หรือเปล่ามากกว่าจะเป็น สบายดีหรือ อย่างที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม  ยังไม่เคยเห็นปุถุชนคนไหนจะเบิกบานมีความสุข และมองอะไรในแง่น่าขันได้มากเท่ากับบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย  ยิ่งอยู่ใกล้ชิดก็ยิ่งน่าพิศวงว่าเหตุใดท่านจึงมีความสุขได้ถึงเพียงนั้น  ดังกรณีของหลวงพ่อชานั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์ฝ่ายพระหรือฆราวาส ทั้งไทยทั้งฝรั่ง ต่างรู้สึกอยากเข้าใกล้หลวงพ่อด้วยกันทั้งนั้น  ยิ่งเวลาหลวงพ่อชารับแขกและตอบปัญหาญาติโยม  พระทั้งหลายพากันแย่งทำหน้าที่อุปัฏฐาก เพราะรู้ดีว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ได้หัวเราะกันอย่างเต็มเสียง  ทั้งสนุกและได้ความรู้ยิ่งกว่าเวลาอื่น

 

เป็นเรื่องน่าคิดว่า คนที่พูดเรื่อง ทุกข์ บ่อยครั้งเท่าใด ดูเหมือนว่าจะยิ่งมองชีวิตในแง่ดี และหาความสุขได้จากชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น  ลักษณะเช่นนี้เป็นจุดเด่นของพุทธศาสนาที่ไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายอย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจ  เพราะทุกข์ในความหมายตามหลักอริยสัจนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เข้าไปยึดครองเป็นเจ้าของ  ยิ่งเรียนรู้มากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นอิสระจากทุกข์ได้มากเท่านั้น   

ความสุขที่เกิดจากปัญญาแม้จะไม่มีรสชาติอันชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจ  แต่ก็เป็นความสุขสงบอีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต  ไม่ต่างจากน้ำเปล่าที่ดูเหมือนไม่มีรสชาติ แต่ก็ดับกระหายและสร้างความชุ่มเย็นได้มากกว่าน้ำอัดลมหลากสีหลายรส  และแม้คนจำนวนมากจะนิยมเลือกน้ำดื่มชนิดหลัง  แต่คงไม่มีใครกล้าแย้งว่าน้ำเปล่ามีประโยชน์ต่อร่างกายน้อยกว่า  

โดยปกติคนเรามักมีความคาดหวังที่จะให้ทุกสิ่งอย่างเป็นไปตามที่ใจนึก หรืออย่างน้อยก็เป็นไปตามแผน (ที่คิดว่าวางไว้อย่างรอบคอบ)  แต่ความเป็นจริงมักจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะมีเหตุปัจจัยและบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ  ชีวิตไม่เคยเป็นไปตามความนึกคิดของใคร ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอำนาจยิ่งใหญ่เพียงไหนก็ตาม

 

เมื่อความคาดหวังมักจะอยู่ตรงข้ามกับความเป็นจริง  คนเราจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นทุกข์หรือกังวลใจกับเรื่องราวในชีวิตอยู่เสมอ ไม่ว่าเรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง   

เรื่องที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ หากเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ทีละเรื่อง คนส่วนใหญ่สามารถรับมือได้ไม่ยากนัก  แต่เมื่อใดที่เรื่องราวน่าขัดใจเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นชุด   ความหงุดหงิดที่สะสมในใจก็จะผสานกันเป็นระเบิดลูกใหญ่  เมื่อถึงเวลานั้น คนที่อยู่ใกล้ต้องพากันรีบแจว  มิฉะนั้นแล้วจะพลอยถูกลูกหลงไปด้วย

 

กลไกการทำงานในใจเช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และพึงระมัดระวังไม่ให้มีอิทธิพลครอบงำความเป็นไปของชีวิตโดยไม่รู้ตัว 

ลองจินตนาการถึงเช้าวันหนึ่งที่ตื่นขึ้นมาด้วยความขุ่นมัว จะเป็นเพราะเข้านอนดึกเกินไป ฝันร้ายหรือนอนไม่ค่อยหลับก็ตามแต่  จากนั้นก็มีคนโทรศัพท์มารายงานว่า เรื่องที่เคยตกลงกันไว้ไม่อาจจะทำได้เสียแล้ว  ขณะที่เราพยายามจะทำใจให้ยอมรับกับเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ต้องผจญกับสถานการณ์รถติดอย่างหนักในขณะที่ออกจากบ้าน  ครั้นพอถึงที่ทำงานปรากฏว่าเรื่องสำคัญไม่อาจดำเนินต่อไปได้ เพราะเพื่อนร่วมงานเกิดความสะเพร่าในการเตรียมอุปกรณ์ที่สำคัญไป  ส่วนลูกน้องอีกคนก็ถือวิวาสะทำอะไรบางอย่างโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า 

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน  หากต้องเผชิญกับเรื่องราวมากมายเช่นนี้  คงเดาได้ไม่ยากว่าอารมณ์ภายในใจจะเป็นเช่นใด  กับดักทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เหตุทั้งหลายดูจะมีที่มาจากความผิดพลาดของคนอื่นเป็นหลัก  เพราะหากตัวเราเองเป็นสาเหตุของปัญหา  เรามักจะหาทางให้อภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ  ต่างจากเรื่องที่สามารถโทษคนอื่นได้ เพราะความผิดพลาดดูจะทวีขึ้นทุกขณะที่นึกถึง ยิ่งผสานกับความผิดพลาดที่บุคคลนั้นทำในอดีตด้วยแล้ว ยิ่งลุกลามใหญ่โตขึ้นทุกที 

ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติเหล่านี้  หากเรามีเวลาที่จะตั้งสติและพิจารณาแยกแยะให้ดี  เพียงแค่รู้สึกตัวอย่างชัดเจนว่ากำลัง รู้สึกอย่างไร  ความทุรนทุรายในใจจะลดลงไปได้มาก  และหากตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นมัวเหล่านั้น  คำตอบที่ได้รับจะทำให้สามารถวางใจเป็นกลางและมีท่าทีต่อสถานการณ์รอบข้างได้อย่างสมเหตุสมผลขึ้น  มิฉะนั้นแล้ว เราอาจพูดหรือทำอะไรที่ทำให้รู้สึกเสียใจในภายหลัง 

แม้จะยังไม่ใช่พระอรหันต์  แต่เราทุกคนก็มีสิทธิในการปล่อยวางความร้อนรนในจิตใจได้เท่าเทียมกัน  เมื่อใดที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตไม่เป็นไปดั่งใจ  เมื่อนั้นก็เป็นโอกาสในการฝืนกิเลสและฝึกฝนตนเอง  ความพยายามในเรื่องดังกล่าวนี้จัดเป็นสัมมาวายาโมหรือความพากเพียรชอบในมรรคแปดประการ  และยิ่งเราก้าวเดินไปบนเส้นทางนี้มากเพียงใด  เราย่อมค้นพบเคล็ดลับของความสุขในชีวิตมากขึ้นทุกที

 

คำอวยพรที่ดีที่สุดประการหนึ่งในทางพุทธศาสนา คือ ขอให้เจริญในมรรคแปด  และการเจริญดังกล่าวนี้เริ่มต้นด้วยการลงมือ ทำในทุกช่วงเวลาของชีวิต

2 Responses to “ไม่ได้ดั่งใจ”

  1. worrawit said

    สาธุ . . . . ครับ

  2. worrawit said

    กลับมาอ่านอีกที ก็ยิ่งชอบบทความนี้ของครูบามากครับ

ใส่ความเห็น