The Countryside of Chithurst

Reflections of Buddhist monastic life in England

เรื่องของคนเลี้ยงไก่

Posted by phrajew บน มีนาคม 9, 2007

 

หลายวันก่อนมีโอกาสสนทนากับเพื่อนที่แวะมาอ่านข้อเขียนในบล็อก  พอบอกไปว่าไม่ค่อยมีคนแสดงความคิดเห็นกันเลย  ไม่เหมือนกับบล็อกอื่น ๆ ที่เคยได้อ่าน ก็ได้รับคำตอบทันควันมาว่า ของมันแน่อยู่แล้ว คนเขารู้ว่าเป็นพระ ใครที่ไหนจะกล้าเถียง  ยิ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับธรรมะด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่

 

ลองคิดดูแล้วก็คงจะจริง เพราะข้อเขียนที่ได้รับการตอบรับมากที่สุด คือ เรื่องที่เขียนเกี่ยวกับแมว หรือเรื่องราวทั่ว ๆ ไป  เมื่อใดก็ตามที่เริ่มเป็นเรื่องข้อคิดทางธรรมะ แทบจะไม่มีคนตอบสนองเลยก็ว่าได้

 

ลักษณะเช่นนี้ดูจะต่างจากคนตะวันตกที่ได้สนทนาด้วย  เพราะไม่ว่าจะพูดในประเด็นใด ดูจะมีความคิดเห็นหรือมีคำถามให้โต้ตอบกันได้ไม่ขาดสาย  ครั้นลองสังเกตจากคนไทยที่มาวัด พบว่าน้อยคนนักที่จะเข้านั่งสนทนาหรือถามปัญหากับพระ  เวลาญาติโยมที่คุ้นเคยพาคนหน้าใหม่เข้ามาพูดคุยด้วยก็ต้องพยายามช่วยให้หายขัดเขินในระยะต้น ๆ กว่าจะกล้าตั้งคำถามหรือกล้าพูดคุยมากขึ้น

 

ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ เพราะในวัฒนธรรมไทยมีการแบ่งแยกสถานะกันอย่างเด็ดขาด  พระภิกษุกับญาติโยมอยู่กันคนละส่วนของสังคมและไม่ยุ่งเกี่ยวกันโดยไม่จำเป็น  เว้นแต่จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมักจะต้องสัมพันธ์กันแบบเป็นทางการเท่านั้น  ลักษณะเช่นนี้เลยพลอยทำให้เกิดความเข้าใจไปด้วยว่า ธรรมะเป็นเรื่องของพระ ไม่ใช่สิ่งที่ญาติโยมจะไปร่วมวงเสวนาด้วย

 

ทุกครั้งที่มีโอกาสสนทนากับคนที่มาเยี่ยมวัด ก็มักจะชวนพูดคุยเรื่องความสุขความทุกข์ของชีวิต และเรื่องอื่น ๆ ตามแต่เหตุการณ์จะพาไป  หลายคนบอกว่าไม่เคยรู้เลยว่าสามารถคุยเรื่องทำนองนี้กับพระได้ หรือแสดงความแปลกใจว่าทำไมวันนี้ถึงรู้สึกว่าธรรมะไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

 

ชีวิตของคนเราย่อมมีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นจากคนจำนวนมากอยู่แล้ว  การฟังจากพระเพิ่มเข้าไปอีกคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรมากนัก  ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครบังคับว่าให้ต้องเชื่อไปเสียทุกอย่าง หรือต่อให้บังคับ เราก็มีสิทธิที่จะไม่เชื่อได้อยู่ดี  นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งที่คนในสังคมซึ่งอ้างตัวว่าเป็นชาวพุทธอย่างสังคมไทย  แทบจะไม่ได้คำนึงถึงความเห็นทางศาสนาต่อการตัดสินใจใด ๆ ในสังคมเลย  ทั้ง ๆ ที่เปิดรับแนวคิดจากด้านอื่น ๆ ดังที่ปรากฏในสื่อมวลชนอยู่ตลอดเวลา 

นอกจากนี้แล้ว ท่าทีของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อพระ  ทำให้ได้รับประโยชน์จากธรรมะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  ทั้ง ๆ ที่สังคมไทยให้ความสนับสนุนเกื้อกูลต่อความเป็นอยู่ของพระได้อย่างไม่มีที่ใดเสมอเหมือน  เรื่องนี้ทำให้นึกถึงคำเปรียบของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า คนไทยเลี้ยงไก่แต่ไม่รู้จักกินไข่  นับเป็นคำเปรียบที่เห็นภาพชัดเจนนักแล

 

อย่างที่ได้เห็นมาในคณะสงฆ์ตะวันตกก็เช่นกัน  คนที่มาทำบุญถวายภัตตาหารส่วนใหญ่เป็นคนไทย หรือคนศรีลังกาที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอังกฤษ ส่วนคนที่มานั่งสมาธิและฟังการบรรยายธรรมในวันเสาร์อาทิตย์เป็นคนตะวันตกแทบทั้งหมด  ยิ่งช่วงที่เป็นการสนทนาอภิปรายกันเรื่องธรรมะด้วยแล้ว  อย่าหวังว่าจะได้เจอผู้ร่วมวงที่เป็นคนไทยเลย  เพราะล้วนแต่ติดธุระและมาไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น

 

เวลาที่ญาติโยมนิมนต์พระไปสวดในพิธีมงคลที่บ้าน มักจะมีบทสวดอยู่บทหนึ่งที่ได้ยินกันเป็นประจำ นั่นคือบทที่ว่าด้วยมงคลสามสิบแปดประการ  ความหมายของบทสวดนั้นลึกซึ้งมาก แต่ชะรอยว่าพระจะสวดในระหว่างที่คนส่วนใหญ่กำลังเพลิดเพลินอยู่กับการสนทนา จึงไม่อาจทำความเข้าใจได้ทัน  คนที่สนใจบทสวดนี้ก็ให้สังเกตวรรคสุดท้ายที่จะลงว่า เอตัมมังคะละมุตตะมัง อยู่ซ้ำ ๆ กันนับสิบรอบ  นั่นแหละบทที่กล่าวถึงนี้

 

ในลำดับแห่งการกระทำอันเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตนั้น เริ่มไปจากการไม่คบคนพาล เลือกคบแต่บัณฑิต ไปจนกระทั่งบรรลุธรรมขั้นสูง ทำจิตให้ปลอดโปร่ง ปราศจากความทุกข์ทั้งปวง  ในมงคลทั้งสามสิบแปดประการนี้มีอยู่สามข้อที่อาจเกี่ยวโยงกับประเด็นที่พูดคุยกันในครั้งนี้  นั่นคือ การเห็นสมณะ การฟังธรรมและการสนทนาธรรม ถือเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตด้วย  น่าคิดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

 

ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจมากที่สุด  การได้เห็นสมณะผู้ดำรงตนอยู่ในความสงบเสงี่ยมจึงเป็นเสมือนตัวอย่างของชีวิตอันประเสริฐ  ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตาม อีกทั้งมีกำลังใจด้วยว่า หากปฏิบัติได้ดีแล้วย่อมส่งผลเหมือนกันเช่นนั้น  นอกจากนี้การฟังธรรมและสนทนาธรรมยังก่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมะกว้างขวางลึกซึ้งขึ้น  เป็นโอกาสได้เรียนรู้แง่คิดและมุมมองต่าง ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน  ทำให้นำมาใช้เป็นหลักในการคิดของตนเองได้  หรืออย่างน้อยก็นำมาเปรียบเทียบกับวิธีคิดอื่น ๆ ที่เรารู้จัก เพื่อที่จะเลือกสรรในสิ่งที่เหมาะกับเราได้ต่อไป

 

สังคมไทยได้ก้าวผ่านยุคที่คนรุ่นย่าและยายจะพาหลานไปวัด และสอนให้รู้จักวิธีติดต่อสัมพันธ์กับพระไปแล้ว  คนรุ่นใหม่จึงเริ่มต่อไม่ติดกับวัฒนธรรมดั้งเดิม  เวลาเจอพระทีไรจึงรู้สึกเกร็ง ไม่รู้จะทำอย่างไร และอยากถอยไปให้ห่าง ทำให้ใช้ชีวิตแยกขาดจากวัดมากขึ้นเรื่อย ๆ  และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคำสอนที่ประยุกต์ใช้กับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างหลากหลาย  บางที เราอาจต้องหันมาเรียนรู้ท่าทีที่ว่านี้จากคนตะวันตกก็เป็นได้

3 Responses to “เรื่องของคนเลี้ยงไก่”

  1. kohsija said

    คนไทย อยู่ที่ไหน ก็ยังเป็นคนไทยสินะครับ
    ยังเห็นศาสนาเป็น “รูปแบบ” เหมือนเดิม

    ผมก็ชอบอ่านมงคล 38 ประการครับ
    จำได้ว่า อ่านสองสามรอบ สนุกดีทีเดียว

    สาธุครับ

  2. water said

    thank you so much for a beautiful message that you share in this blog!

  3. fon said

    เพิ่งเข้ามาอ่านค่ะ .. ขอบคุณมากนะคะสำหรับเรื่องราวดี ๆ ในบล็อกนี้ จะติดตามต่อไปเรื่อย ๆ ค่ะ

ส่งความเห็นที่ fon ยกเลิกการตอบ