The Countryside of Chithurst

Reflections of Buddhist monastic life in England

จากลาด้วยรอยยิ้ม

Posted by phrajew บน มิถุนายน 10, 2007

 

ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา ชีวิตของคนเราก็คงจะเป็นอย่างนั้น  ไม่ว่าจะทำอะไรหรืออยู่ที่ไหน ล้วนแต่เป็นของชั่วคราวที่จะต้องมีการยุติลงสักวันหนึ่ง  ความจริงข้อนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรือความต้องการของใคร  ถึงจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องเป็นไปอย่างนั้นอยู่ดี

 นับตั้งแต่มาถึงอังกฤษเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมของปีที่ผ่านมา  วันเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนแทบไม่มีโอกาสได้นั่งคิดถึงเมืองไทย  เพิ่งช่วงใกล้จะกลับนี้เองที่เริ่มนึกว่ามีอะไรที่จะต้องกลับไปทำบ้าง  แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมีแต่ช่วงเวลาที่เป็นสุขหรือสนุกสนานจนไม่ทันคิดถึงเรื่องอื่นแต่ประการใด  เพียงแต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องคิดล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาก็ค่อย ๆ คิดอ่านกันต่อไปเท่านั้นเอง 

ด้วยความที่ปรับตัวให้เข้ากับความเป็นอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างกลมกลืน  เพื่อนหลายคนจึงล้อว่า สงสัยจะต้องกลับไปเรียนรู้วัฒนธรรมไทยใหม่อีกกระมัง หารู้ไม่ว่าที่จริงแล้ววัฒนธรรมไทยนั่นเองที่เป็นปัจจัยสำคัญของการปรับตัว เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คนไทยมีนิสัยค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความคิดเห็นของตนเองจนเกินไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ยอมรับความแตกต่างได้ไม่ยากนัก และส่งผลให้ปรับตัวได้ง่ายตามไปด้วย

 

การอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก ไม่ว่าจะต่างวัฒนธรรมกันมากน้อยเพียงใด ย่อมจะต้องมีข้อขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา  การคลี่คลายปัญหาที่ว่านี้ต้องอาศัยการเปิดใจให้กว้าง  ไม่เอาแต่ความเห็นของตนเองเป็นเครื่องตัดสินแต่ถ่ายเดียว และพยายามทำความเข้าใจรากฐานที่มาของวัฒนธรรมนั้น ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   

 

เท่าที่ผ่านมาคิดว่าใช้ชีวิตท่ามกลางชุมชนตะวันตกได้อย่างราบรื่นและเป็นสุขพอสมควร  สามารถสืบสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้หลากหลายและมีโอกาสทำประโยชน์ให้กับชุมชนที่อยู่ได้ไม่น้อย  ทั้งนี้เนื่องจากมีบทบาทอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ที่อาวุโสกับคนที่เข้ามาใช้ชีวิตในวัดได้ไม่นานนัก  ทำให้ได้รับฟังปัญหาและช่วยให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ บ่อยครั้ง  การที่ทำบทบาทนี้ได้ก็ไม่จำเป็นต้องเก่งหรือฉลาดล้ำเลิศแต่ประการใด เพราะบางคราวคนเราก็ต้องการเพียงแค่เพื่อนที่จะรับฟังปัญหาต่าง ๆ ที่คับข้องใจเท่านั้น  เวลาตัดสินใจแก้ไขปัญหาก็ต้องทำด้วยตนเองอยู่ดี  ไม่สามารถให้ใครตัดสินใจแทนได้

 

อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าการอยู่วัดที่อังกฤษจะมีโอกาสได้ทำประโยชน์เพียงใด หรือสร้างสายสัมพันธ์ได้ดีเท่าใด  ชีวิตก็ย่อมต้องเดินหน้าไปตามครรลองที่พึงจะเป็น  แม้ว่าจะมีคนหลายคนที่ต้องการให้อยู่ต่อ และมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้านก็ตาม แต่เป้าหมายของชีวิตนั้นยังคงพอใจกับการใช้ชีวิตเงียบ ๆ เพื่อการภาวนาอยู่เช่นเดิม

 

มีกวีคนหนึ่งเปรียบความสัมพันธ์ของคนเราว่า เหมือนท่อนไม้สองท่อนที่ลอยมาพบกันกลางทะเล  พอคลื่นลมหักเห ไม้ทั้งสองท่อนก็แยกห่างจากกัน และไม่มีใครรู้ว่าจะหวนกลับมาพบกันอีกหรือไม่  คิดดูแง่หนึ่งก็ฟังดูน่าเศร้าใจ  แต่หากหันมามองอีกด้านก็จะเห็นว่าเป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

 

หากเราตอบกับตัวเองได้ว่า ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เราได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว และแม้จะมีข้อผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้นบ้างก็เป็นธรรมดาของปุถุชน  แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะมุ่งร้ายหรือเบียดเบียนใคร  เท่านี้ก็น่าจะถือได้ว่าดีที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้แล้ว 

 เมื่อคิดเห็นเช่นนี้  การเดินทางจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง และการพลัดพรากจากคนกลุ่มหนึ่งเพื่อไปพบปะกับคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยที่อาจไม่มีวันหวนคืนมาพบกันอีก จึงไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าโศก  หากแต่เป็นเรื่องที่น่าเบิกบานใจ เพราะเมื่อคิดย้อนหลังไปคราใด เราย่อมพบแต่ความสุขความชื่นใจที่ได้อยู่ร่วมกันอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว  ต่างฝ่ายต่างต้องขอบคุณซึ่งกันและกันที่ช่วยให้ได้เรียนรู้ความจริงของชีวิตมากขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น 

การลาจากกันคราวนี้จึงเป็นการจากลาด้วยรอยยิ้ม ไม่ใช่ด้วยรอยน้ำตา

หมายเหตุ

นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  ขอยุติการเขียนบทบันทึกลงเว็บไซต์แห่งนี้เป็นการชั่วคราว

ขอขอบคุณญาติมิตรที่เข้ามาอ่านทุกท่าน  หากมีเหตุปัจจัยเอื้ออำนวย หวังว่าจะได้มีโอกาสเขียนให้อ่านกันอีก  แต่เชื่อว่าน่าจะอีกยาวนานพอสมควร

 

ขออนุญาตส่งกำลังใจมาให้กับทุกท่าน ขอให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติ และมีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจตลอดไป

Posted in Dhamma, Life in general | 7 Comments »

การงานของชีวิต

Posted by phrajew บน เมษายน 13, 2007

 

หลังจากที่บวช เคยพูดให้หลายคนฟังว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ไม่มีการงานชนิดใดที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้มากเท่ากับการปฏิบัติธรรมอีกแล้ว  แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังคิดอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

 

ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จัดว่าเป็นเด็กเรียนดีและได้คะแนนอยู่ในลำดับต้น ๆ มาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่คนขยันท่องหนังสือมากนัก  เมื่อมองย้อนอดีตครั้งใด ไม่เคยเห็นภาพของตัวเองนั่งอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเลย  แม้กระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในคณะที่จัดว่าคะแนนสูงในช่วงนั้น ก็ไม่ได้อ่านตำราอย่างเอาจริงเอาจังเช่นกัน  เพราะช่วงที่รู้สึกตื่นตัวเข้าจริง ๆ ก็เป็นวันที่เพื่อน ๆ สายวิทย์มาบ่นให้ฟังว่าข้อสอบยากมาก (ในสมัยนั้น คนที่สอบวิชาสายศิลป์จะสอบหลังจากสายวิทย์อยู่ราว ๆ หนึ่งสัปดาห์)  คิดดูแล้วก็น่าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย ที่เอาชะตาชีวิตทางการเรียนไปแขวนไว้กับช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเอง

 

เหตุที่นิ่งนอนใจได้ถึงปานนั้น เป็นเพราะบังเอิญว่าสอบเทียบได้ตั้งแต่เรียนชั้นม. 4 ทำให้มีโอกาสทดลองสอบเข้ามหาวิทยาลัยตลอดทั้งสามปีที่เรียนชั้นมัธยมปลาย   ความคุ้นเคยกับข้อสอบทำให้จับทิศทางในการเดาคำตอบได้มาก   ความสามารถอย่างหนึ่งที่มีคือ การตัดตัวเลือกให้เหลือเพียงสองตัวเลือกได้เป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะเป็นข้อยากที่ไม่เคยผ่านสายตามาก่อนก็ตาม การทำได้เช่นนี้ทำให้โอกาสในการเดาคำตอบได้ถูกมีมากกว่าคนอื่นหลายเท่าตัว 

พูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นคนมีโชคในการทำข้อสอบก็ได้  เพราะแม้กระทั่งข้อสอบวิชาคำนวณที่ต้องเขียนคำตอบลงไป ก็ยังเคยเดาได้ถูกต้องและเก็บคะแนนเปล่า ๆ ข้อละ  5 คะแนนได้มาแล้ว (ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูงนั้น แม้เพียงหนึ่งคะแนนก็มีความหมาย)  เพื่อนคนหนึ่งเคยถามว่าทำได้อย่างไร  ตอบได้ว่าไม่ยากเลย เพราะข้อสอบทำนองนี้จะต้องมีคำตอบที่ทำให้ฝนดินสอลงไปได้ไม่เกินเลข 0-9 และเท่าที่เคยผ่านมาก็รู้ว่าคำตอบที่ปรากฏบ่อย ๆ ในวิชาฟิสิกส์นั้น ถ้าไม่เป็น 0 ก็ต้องเป็น 2 หรือ 5 เป็นส่วนใหญ่  และบังเอิญข้อที่ว่านั้นคำตอบเป็น 5 ตามที่เดาไว้จริง ๆ  (คิดว่าหากคนออกข้อสอบได้ยินเรื่องนี้เข้า อาจจะกระเด็นตกโต๊ะที่เผลอเปิดช่องโหว่ได้มากขนาดนั้น) 

เคราะห์ดีที่การสอบสายวิทย์ในสองครั้งแรกนั้นไม่ติดในคณะที่ต้องการ  จึงทำให้ตัดสินใจหันเหชีวิตได้ทันท่วงที  เพราะถ้าขืนสอบเข้าได้ด้วยการเดาเช่นนี้ เห็นจะเรียนไปไม่รอดเป็นแน่  และพอหันมาทำข้อสอบสายศิลป์ก็พบว่า ยิ่งเดาคำตอบได้ง่ายเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาสังคม ภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ (คนส่วนใหญ่คงไม่อยากเชื่อว่า วิชาหลังสุดนี้เดาง่ายกว่าวิชาอื่น แต่ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ)   เวลาทำข้อสอบเก่า ๆ จึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะสอบได้  เพิ่งจะรู้สึกตกใจก็ตอนที่มีคนบอกว่าข้อสอบปีนี้ยากกว่าทุกปีดังที่เล่าไปแล้วนั่นเอง 

ด้วยเหตุที่กล่าวมา จึงไม่ค่อยรู้สึกภาคภูมิใจในผลการสอบของตัวเองนัก  เรื่องดีใจที่สอบได้นั้นก็เป็นธรรมดา แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีความสามารถอย่างแท้จริงเลย 

 

ช่วงหลังจากสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ความพยายามทางการเรียนยิ่งลดน้อยไปกันใหญ่  เพราะให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมอื่น ๆ มากกว่าการเข้าชั้นเรียน  ไม่ว่าจะเป็นการออกค่ายอาสา การทำละคร หรืออื่น ๆ  โชคดีที่ว่าวิชาที่เรียนนั้นพอจะใช้ความรู้รอบตัวไปปรับใช้ในการเขียนตอบได้ จึงทำให้สอบผ่านมาได้โดยตลอด 

 

เท่าที่นึกทบทวนดูแล้ว พบว่ามีเรื่องที่ออกจะน่าอายอยู่สักหน่อยคือ การได้เกรดเอในวิชาถ่ายภาพเบื้องต้นโดยที่ใช้กล้องถ่ายรูปไม่เป็นเลยและใช้วิธีขอยืมภาพจากเพื่อนไปส่งเป็นผลงานภาคปฏิบัติ  ในบรรดาวิชาทั้งหมดที่ได้เรียน มีเพียงสองสามวิชาเท่านั้นที่ได้เกรดเอมาด้วยความภาคภูมิใจ โดยหนึ่งในนั้นคือ วิชาว่ายน้ำที่ตั้งต้นจากว่ายไม่เป็นเลย จนกระทั่งแอบฟังเทคนิคจากครูที่กำลังสอนเด็กชั้นประถมอยู่ข้าง ๆ แล้วเก็บมาฝึกซ้อมจนว่ายได้เกือบทุกท่าและผ่านเกณฑ์อันมหาโหดของอาจารย์ประจำวิชามาได้  (เรื่องเรียนวิชาว่ายน้ำตอนโตนี้คิดว่ามีเกร็ดที่ยาวพอจะเขียนได้อีกหนึ่งตอนเลยทีเดียว)

 

เมื่อชีวิตในยามฆราวาสเป็นเช่นนี้  ครั้นต้องมานอนกับพื้นดินกลางป่า ตื่นตีสาม ฉันอาหารมื้อเดียว เดินบิณฑบาตเท้าเปล่าบนทางที่เต็มไปด้วยกรวดคม ๆ  แถมยังต้องนั่งสมาธิและฟังเทศน์แบบยาวนานอีก คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะสาหัสสากรรจ์เพียงใด  ลำพังแค่ทนนั่งสมาธิได้อย่างเดียวนั้น ก็คิดว่าได้ใช้ความพยายามเกินกว่าที่ใช้มาทั้งหมดในชีวิตแล้ว  ไม่ต้องนับถึงความอดทนในการรักษาพระวินัยในด้านอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน

 

ที่เล่ามานี้ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งแต่ประการใด แต่รู้สึกว่าได้ทุ่มเทความพยายามต่าง ๆ ลงไปไม่น้อย ทำให้กลายเป็นการงานที่ภาคภูมิใจที่สุดของชีวิต  ต่อให้เคยได้รับรางวัลเรียนดี ได้ทุนการศึกษา สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในคณะที่ใคร ๆ อยากเข้า หรือประสบความสำเร็จอื่นใดในชีวิต ก็ยังอาจจะไม่ภาคภูมิใจได้เท่านี้  แม้ว่าจะยังไม่ได้บรรลุธรรมใด ๆ และยังคงมีโลภ โกรธ หลงครบทั้งสามประการ ก็ยังรู้สึกว่าคุ้มค่ากับวันเวลาและความพยายามทั้งหมด  คิดว่าหากทุ่มเทได้มากกว่านี้ อาจจะได้ผลดีกว่าที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำไป  แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องของความนึกคิดเท่านั้น 

ในชีวิตของคนเรา หากได้พบเป้าหมายที่ชัดเจนของการอยู่บนโลกใบนี้  รู้ว่าอะไรที่เป็นการงานสำคัญของชีวิต และมีโอกาสที่จะได้ทำงานนั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ  เพียงเท่านี้ก็มั่นใจได้ว่า จะลาจากโลกนี้ไปโดยไม่รู้สึกผิดหวังต่อการใช้ชีวิตเลยแม้แต่น้อย

 

ไม่ว่าบุญกุศลใดที่ได้ทำทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ขอจงส่งผลให้ได้ทำการงานของชีวิตจนถึงที่สุดของการงานนั้น เชื่อว่าที่กล่าวมานี้เป็นคำอธิษฐานสูงสุดของความเป็นชาวพุทธ

Posted in Dhamma, Life in general | 2 Comments »

ชีวิตนี้แสนยาก

Posted by phrajew บน เมษายน 6, 2007

 

ในโลกนี้มีใครรับรองได้บ้างว่า เรื่องราวที่ไม่คาดฝันจะไม่อุบัติขึ้นกับชีวิต 

 

หนุ่มชาวเวียตนามคนหนึ่งวาดฝันเอาไว้ตั้งแต่เด็กว่า สักวันหนึ่งจะต้องมาเหยียบแผ่นดินอังกฤษให้ได้  หลังจากเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมในกรุงฮานอย  พ่อแม่ก็ลงทุนใช้เงินที่เก็บหอมรอบริบมานานกว่าสามสิบปี เพื่อส่งเสียให้เขามาเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยคิงสตัน

 

ระยะเวลาหนึ่งปีในอังกฤษผ่านไปอย่างมีความสุข เขาเรียนจบหลักสูตรทางภาษาและกำลังเริ่มต้นเรียนปริญญาโท ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านเข้ามาในชีวิตดูจะเป็นประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ที่น่าสนใจ  และเริ่มเชื่อมั่นว่าแผนการศึกษาที่วาดเอาไว้จะกลายเป็นจริงในระยะเวลาอันใกล้นี้ 

แต่แล้วในเย็นวันหนึ่ง ระหว่างที่ยืนรอรถไฟอยู่ตรงชานชาลา  กลุ่มนักฟุตบอลเยาวชนที่อยู่ข้าง ๆ ก็เล่นผลักกันตามประสาวัยรุ่น  แรงผลักทำให้หนึ่งในนั้นพลัดตกลงไปบนรางรถไฟและเกี่ยวเอาหนุ่มชาวเวียตนามให้พลอยตกลงไปด้วย  โดยในขณะนั้นรถไฟกำลังแล่นเข้ามาพอดี

 

กว่าที่พ่อแม่ซึ่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่งจะได้รู้ข่าวการเสียชีวิตของเขา ก็เป็นระยะเวลากว่าสองวัน  คงไม่ต้องบอกว่าหัวใจของพ่อแม่จะสลายลงไปเพียงใดเมื่อได้รับข่าวนี้  ภาพถ่ายของเขาที่ยืนอยู่บริเวณหอคอยลอนดอนและจตุรัสทราฟัลการ์ยิ่งทำให้พ่อแม่น้ำตาไหลพราก 

 

คนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้สูญเสียหรือเป็นคนในครอบครัวมักจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า ความพลัดพรากเป็นความจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องยอมรับ  แต่ครั้นเมื่อเกิดขึ้นกับตัว จะมีสักกี่รายที่จะหักห้ามใจไม่ให้โศกเศร้า อย่าว่าแต่จะทำใจให้ยอมรับได้เลย 

คิดว่าข่าวนี้สร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้คนอ่านจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแถบเอเชีย  เพราะชีวิตของหนุ่มเวียตนามคนที่ว่านี้ดูจะเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่มาแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตจากการศึกษาในประเทศอังกฤษ  แต่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จตามปรารถนา

 

คำถามที่ไม่มีใครย้อนเวลาไปถามกันได้คือ หากรู้ว่าชีวิตจะเป็นไปเช่นนี้ จะยังเลือกเส้นทางเดียวกันอยู่หรือไม่  เพราะสถานการณ์แวดล้อมของชีวิตในแต่ละขณะต่างหากที่ทำให้ตัดสินใจทำอะไรอย่างที่ควรจะเป็น  และไม่มีอะไรเป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างชัดเจนว่า  การตัดสินใจแบบใดจะถูกหรือผิดกันแน่  แต่อย่างน้อยเรื่องราวไม่คาดฝันที่อาจอุบัติขึ้นกับชีวิต ควรจะทำให้เราฉุกคิดขึ้นได้บ้าง และไม่รู้สึกนิ่งนอนใจกับชีวิต

 

หากมองในอีกแง่หนึ่ง ความผันแปรอันคาดเดาไม่ได้นี้เองที่ทำให้ชีวิตในแต่ละขณะมีคุณค่ากว่าที่เราคิดไว้  เพราะหากทุกอย่างเป็นไปดังหวัง เราก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและทะนุถนอมแต่ประการใด  สิ่งที่ต้องทำอาจมีเพียงแค่รอเวลาที่จะชื่นชมผลสำเร็จดังที่หวังไว้เท่านั้น  แต่ในเมื่อเราไม่มีทางรู้ได้แน่นอนว่าจะไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้จริงหรือไม่  การดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะเป็นความจริงที่ยังจับต้องได้และยังสามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้

 

อย่างไรก็ตาม  น้อยคนที่จะชื่นชมกับชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เพราะมักจะมองเห็นแต่ปัญหาและความน่าหงุดหงิดรำคาญใจเต็มไปหมด  แต่ถ้ามีโอกาสได้ถามตัวเองอย่างจริงจังดูบ้าง จะพบว่าสิ่งที่ทำให้ยุ่งยากลำบากใจนั้นเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความพลักพรากสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต

 

การหมั่นระลึกถึงความเปราะบางของชีวิตทั้งของตนเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ  ไม่เพียงแต่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่กับความจริงอันเป็นสัจธรรมเท่านั้น  แต่ยังทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้นด้วย  และหากเราดำเนินชีวิตไปด้วยหลักความจริงเช่นนี้ ย่อมมีเรื่องราวเล็กน้อยจำนวนมากที่เราไม่จำเป็นต้องคิด หรือแม้แต่จะเก็บเอามาใส่ใจ

 

ลองพิจารณาดูให้ดีว่า เรื่องอากาศร้อน รถติด คนขับรถปาดหน้า ลูกน้องทำงานไม่ได้ดั่งใจ ความเห็นขัดแย้งกับเพื่อน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อความสุขความทุกข์อย่างแท้จริงหรือไม่  ถ้าต้องจากโลกนี้ไปในวันนี้ เราจะยังคิดถึงเรื่องเหล่านี้อยู่อีกหรือไม่ 

ชีวิตนี้อาจจะดูแสนยากในการประคับประคองให้ลุล่วงไปด้วยดี  แต่แท้จริงแล้ว ตัวการหลักที่ทำให้ชีวิตแสนยากย่อมไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากตัวของเรานั่นเอง   

Posted in Dhamma, Life in general | Leave a Comment »