The Countryside of Chithurst

Reflections of Buddhist monastic life in England

Archive for สิงหาคม, 2006

คำถามของหุ่นยนต์

Posted by phrajew บน สิงหาคม 31, 2006

 

ในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องหนึ่งของอาซิมอฟ กล่าวถึงหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการผลิต ทำให้มีระบบสมองที่สามารถคิด เรียนรู้ และทำงานสร้างสรรค์ได้  เป็นที่แน่นอนว่าคุณสมบัติเช่นนี้ย่อมสร้างความแตกตื่นในแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นอันมาก เพราะไม่มีหุ่นยนต์ตัวไหนทำได้มาก่อน

 

บทบาทดั้งเดิมของหุ่นยนต์คือผู้รับใช้ที่ต้องคอยรับคำสั่งทุกครั้งไป  แต่เมื่อหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถคิดได้ ความสัมพันธ์ที่มีต่อมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงไป  เพียงชั่วเวลาไม่นานนัก หุ่นยนต์ที่เคยเป็นเพียงพี่เลี้ยงเด็กและได้รับการตั้งชื่อว่าแอนดรูว์ก็สามารถหารายได้ด้วยตนเองและต้องการความเป็นอิสระมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

เนื่องจากหุ่นยนต์เป็นวัตถุที่มีอายุขัยยาวนานกว่ามนุษย์  แอนดรูว์จึงได้เห็นคนในครอบครัวหลายชั่วคน ประกอบกับวิทยาการที่ก้าวหน้าไปในแต่ละสมัยก็ทำให้หุ่นยนต์ตัวนี้คล้ายกับมนุษย์มากขึ้นทุกที  ยามใดที่เกิดข้อติดขัด เขาก็ลงมือศึกษาและทดลองด้วยตนเอง จนท้ายที่สุดแอนดรูว์ก็มีรูปลักษณ์ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอกหรือแม้กระทั่งอวัยวะภายในร่างกาย  มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ยังคงรักษาไว้คือ สมองที่พิเศษกว่าหุ่นยนต์ตัวอื่น

 

แต่ถึงกระนั้น แอนดรูว์ก็ยังไม่พอใจอยู่นั่นเอง  เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง  แต่ในสายตาของคนทั่วไปเขาก็ยังเป็นหุ่นยนต์อยู่ดี  ในวาระครบรอบอายุสองร้อยปี  แอนดรูว์จึงตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงระบบสมองให้เสื่อมได้และตายไปในที่สุด  ในระยะสุดท้ายของชีวิตนี้เองที่เขาได้รับการประกาศยอมรับว่าเป็น แอนดรูว์ มนุษย์สองร้อยปี

 

นิยายขนาดสั้นเรื่องนี้คงให้ข้อคิดกับผู้อ่านได้หลากหลาย แล้วแต่มุมมองและประสบการณ์  แต่ประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือ การตั้งคำถามว่าความเป็นมนุษย์คืออะไรกันแน่  เพราะในขณะที่หุ่นยนต์ตัวหนึ่งพยายามให้คนอื่นยอมรับคุณค่าของตัวเองอย่างสุดความสามารถ  แต่มนุษย์ทั่วไปในสังคมดูจะไม่ได้ให้ความหมายต่อสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่สักเท่าใดนัก

 

แอนดรูว์ค้นพบว่าหัวใจสำคัญของการเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ร่างกายภายนอก แต่อยู่ที่การยอมรับความเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ  แม้ว่าคนจำนวนมากจะเพียรพยายามที่จะยืดวันเวลาของชีวิตให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้  แต่สุดท้ายแล้วย่อมไม่มีใครหลีกพ้นจากความตาย  ภาวะของคนที่ไม่ยอมตายนั้นถือได้ว่าไม่ใช่ภาวะของมนุษย์   

 

ข้อคิดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ถึงแม้ว่าคนทั่วไปจะเกรงกลัวความตายมากเพียงใดก็ตาม แต่หากต้องเผชิญกับความเป็นอมตะเข้าจริง ๆ แล้ว กลับยิ่งหวาดกลัวต่อสภาวะนี้เสียอีก  หากลองนึกถึงชีวิตที่จะดำรงอยู่ตลอดกาลแล้ว หลายคนคงรู้สึกได้ว่าเหลือที่จะรับจริง ๆ 

ความจริงพื้นฐานเกี่ยวกับความตายเช่นนี้เองที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต และเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การยอมรับและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าให้สมกับวันเวลาที่ต่างมีอยู่เพียงช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น   

นอกจากนี้แล้วคำว่ามนุษย์ในภาษาบาลียังแปลได้ว่า ผู้ที่มีใจสูงโดยหมายถึงคนที่รู้จักพัฒนาจิตใจของตนเองให้ละเอียดอ่อนขึ้น มองเห็นความเป็นจริงของชีวิต และสามารถต้อนรับกับความตายที่กำลังเดินทางมาหาได้อย่างอาจหาญ  ทั้งนี้เพราะได้ดำเนินชีวิตของตนอย่างดีที่สุดตามกำลังสติปัญญาที่มีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรจะตำหนิตนเองได้   

จากการอ่านนิยายแล้วย้อนมองตัวเอง ความรู้สึกยินดีอย่างท่วมท้นของแอนดรูว์ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นมนุษย์ในที่สุดนั้นตั้งคำถามชวนให้คิด  ในขณะหุ่นยนต์ตัวหนึ่งยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์  ตัวเราเองได้ทำอะไรบ้างให้สมกับคุณค่าภายในตัวของเราเอง

 

Posted in books | 1 Comment »

นั่งมองความเบื่อ

Posted by phrajew บน สิงหาคม 30, 2006

ถ้ามีการจัดประกวดวิถีชีวิตอันน่าเบื่อ  ความเป็นอยู่ในวัดคงจะจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ  คนที่ไม่เชื่อก็ลองนึกถึงการสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น นั่งสมาธิเดินจงกรมเป็นชั่วโมง ๆ ดูบ้าง  หากต้องทำเช่นนี้อยู่ทุกวัน คนที่ไม่รู้สึกเบื่อเลยเห็นจะผิดวิสัยปุถุชนเป็นแน่แท้

นอกจากวิถีชีวิตที่ดำเนินไปเหมือนเดิมในทุก ๆ วันแล้ว ชีวิตภายในวัดยังแทบจะไม่มีอะไรให้เบี่ยงเบนความสนใจได้เลย  คนอยู่วัดไม่สามารถไปดูหนัง ฟังเพลง กินข้าว ซื้อของ หรือไปเที่ยวพักผ่อนได้อย่างคนทั่วไป  ดังนั้น เมื่อเกิดความรู้สึกเบื่อขึ้นมามีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำได้ คือ การเรียนรู้ที่จะอดทน

เมื่อตอนบวชใหม่ได้รับคำสอนให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความรู้สึกต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ฝึกนั่งสมาธิ  เคยมีคนถามว่าถ้าอดทนไปจนถึงที่สุดแล้วจะให้ทำอย่างไร  คำตอบที่ได้รับจากพระอาจารย์คือให้อดทนต่อไปอีก  ฟังดูแรก ๆ เหมือนกำปั้นทุบดินอยู่ชอบกล  แต่ต่อมาก็ตระหนักว่าคำสอนง่าย ๆ นี้เองที่เป็นหัวใจของการฝึกหัดขัดเกลาตนเองที่หนักหนาสาหัสนัก 

แม้วิถีชีวิตภายในวัดจะดูน่าเบื่อแต่ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านในได้อย่างยิ่ง  เพราะในขณะที่กิจกรรมในแต่ละวันดำเนินไปเช่นเดิม ความรู้สึกภายในใจกลับแตกต่างกันไปโดยไม่เว้นวัน  ไม่ว่าจะเป็นการเดินบิณฑบาต การฉันภัตตาหาร การสวดมนต์ทำวัตร การนั่งสมาธิ การทำความสะอาด หรือแม้แต่การนั่งอยู่เฉย ๆ ในกุฏิ อาจทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจ หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน เบื่อหน่าย ขี้เกียจ ขยัน หรืออื่น ๆ ได้ทั้งหมด  และอาจกลายเป็นความรู้สึกตรงข้ามในวันต่อมาได้โดยไม่ยากนัก  

โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดความรู้สึกหงุดหงิดขุ่นเคืองหรือไม่สบายใจ คนเรามักจะโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่นที่อยู่นอกตัว  แต่เมื่อสภาวะภายนอกคงเดิม ความเปลี่ยนแปรที่ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ภายในใจบอกให้รู้ชัดว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ภายนอก  เพราะใจของเรานั่นเองที่เป็นตัวการสำคัญ

อธิบายได้อีกแง่หนึ่งว่า วิถีชีวิตภายในวัดเป็นเครื่องมือในการบังคับให้หันมามองดูตนเอง มากกว่าจะเที่ยวมองไปยังภายนอกอย่างที่เคยเป็น   

อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีที่แฝงมากับความน่าเบื่อเช่นกัน  เวลาที่เราปฏิบัติธรรม หลายคนพบว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำอยู่ในชีวิตประจำวันกลับเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้อย่างไม่น่าเชื่อ บางคนรู้สึกเป็นสุขกับการกวาดลานหญ้า การเดินไปตักอาหาร การนั่งจิบน้ำชาตามลำพัง หรือแม้กระทั่งการนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ทำให้รู้สึกดีกับชีวิตอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน   

พระอาจารย์ฝรั่งรูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะบวช  ท่านฝึกเป็นผ้าขาวอยู่ในวัดที่อังกฤษหลายเดือน  ก่อนที่จะออกเดินทางมาเมืองไทย  ท่านตัดสินใจที่จะดูหนังเรื่องหนึ่งเป็นครั้งสุดท้าย  บังเอิญว่าหนังเรื่องนั้นยาวมาก และนักวิจารณ์ทั้งหลายบ่นกันว่าเป็นหนังที่น่าเบื่อที่สุดในรอบปี  แต่ตัวท่านกลับดูหนังด้วยใจที่เป็นสุขตลอดเวลา 

เรื่องที่เล่านี้สรุปปิดท้ายว่า หลังจากที่นั่งดูลมหายใจเข้าลมหายใจออกมาเป็นเวลานาน  ไม่ว่าอะไรก็ดูน่าสนใจไปเสียหมด  ดังนั้น หากคิดจะมีความสุขกับสิ่งธรรมดาสามัญที่อยู่รอบข้าง ก็ต้องยอมแลกมากับความน่าเบื่อในการปฏิบัติธรรม  โดยท้ายที่สุดเราอาจจะพบว่าเป็นความน่าเบื่อที่คุ้มค่าต่อการทดลองก็เป็นได้

Posted in Dhamma, Life in general | Leave a Comment »

ดอกไม้สำหรับอัลเจอร์นอน

Posted by phrajew บน สิงหาคม 25, 2006

อัลเจอร์นอนเป็นหนูทดลองตัวหนึ่ง  ก่อนเวลาอาหารของทุกวัน อัลเจอร์นอนจะถูกปล่อยลงในเส้นทางวงกตและจะต้องพยายามหาทางออกให้ได้  มิฉะนั้นก็จะไม่ได้กินอาหารที่วางล่อไว้ตรงปากทาง  ทุก ๆ วันนักวิทยาศาสตร์ก็จะเฝ้าสังเกตการลองผิดลองถูกของอัลเจอร์นอนว่าสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนเองหรือไม่

อัลเจอร์นอนถูกใช้ในการทดลองคู่ขนานไปกับชาร์ลี กอร์ดอน ชายหนุ่มผู้พิการทางสติปัญญาซึ่งสมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัยเรื่องนี้  สติปัญญาของทั้งคู่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งชาร์ลีกลายเป็นบุคคลอัจฉริยะที่เฉลียวฉลาดกว่านักวิทยาศาสตร์เจ้าของโครงการเสียอีก  บันทึกประจำวันของเขาสะท้อนให้เห็นพัฒนาการจากการสะกดคำคำง่าย ๆ อย่างผิดพลาด  จนกระทั่งสามารถใช้ภาษาที่ซับซ้อนอธิบายปรากฏการณ์อัลเจอร์นอน-กอร์ดอนที่เขาค้นคว้าและทดลองได้ด้วยตนเอง

ความเฉลียวฉลาดที่ได้มากลับกลายเป็นดาบสองคมสำหรับชาร์ลี  โลกที่เคยรับรู้และเข้าใจกลับกลายเป็นตรงกันข้าม  คนที่เคยรู้สึกว่าเป็น เพื่อนนั้นแท้ที่จริงเห็นเขาเป็นเพียงตัวตลกคนหนึ่งเท่านั้น  ความสัมพันธ์กับครูผู้หญิงที่เคยสอนเขามาทำท่าว่าจะจริงจังขึ้น แต่แล้วเธอก็ทนความฉลาดของเขาไม่ได้  และแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองร่วมกับชาร์ลีก็รู้สึกเสียหน้าเมื่อเห็นเขาฉลาดกว่า  ชาร์ลีเริ่มรู้สึกซึมเศร้าและเกลียดชังสติปัญญาของตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสังเกตพบว่าสติปัญญาของอัลเจอร์นอนลดลงอย่างรวดเร็ว  ชาร์ลีก็สรุปผลการค้นคว้าของตนเองว่าการเพิ่มพูนสติปัญญาเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น  ในที่สุดอัลเจอร์นอนก็เสียชีวิตไปท่ามกลางความสงสัยว่าผลการรักษาจะทำให้ชาร์ลีต้องพบจุดจบเช่นเดียวกันหรือไม่  บันทึกในช่วงสุดท้ายของชาร์ลีแสดงถึงความพยายามที่จะยื้อยุดกับสติปัญญาที่เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว  คำร้องขอสุดท้ายของเขาก่อนที่จะหายตัวไป คือ ขอให้ช่วยวางดอกไม้บนหลุมฝังศพของอัลเจอร์นอนด้วย please if you get a chanse put some flowrs on Algernons grave in the bak yard…“. 

เรื่องราวที่เล่ามานี้ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นที่ได้อ่านเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังคงจำเนื้อหาบางส่วนและความรู้สึกหลังการอ่านได้  ต้องขอบคุณเทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ตที่ทำให้ค้นหาข้อมูลของเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลฮูโกเมื่อปีค.ศ. 1960 (พ.ศ.2503 ) กลับคืนมาจนได้  แดเนียล คียส์ ผู้เขียนเรื่องนี้ได้ขยายเรื่องให้เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ขนาดสั้นและได้รับรางวัลเนบิวลาในอีกหกปีถัดมา โศกนาฏกรรมของชาร์ลี กอร์ดอนสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านมากมายเพียงไร  สามารถวัดได้จากบทละครและภาพยนตร์จำนวนมากที่ดัดแปลงจากเค้าโครงเรื่องดังกล่าว  นวนิยายอีกหลายเรื่องได้เดินตามรอยไม่ว่าจะเป็นกลวิธีในการเขียนหรือการสร้างตัวละครที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่อง Charly ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องนี้ยังส่งผลให้ Cliff Robertsonได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมในปี พ.ศ. 2511 อีกด้วย 

การแสวงหาสติปัญญาของมนุษยชาติเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกาลเวลา  แม้ว่านวนิยายเรื่อง ดอกไม้สำหรับอัลเจอร์นอน จะมีอายุยาวนานกว่าสี่สิบปี  แต่สาระที่ได้จากการอ่านไม่ใช่เรื่องเก่าเลย    การต่อสู้ดิ้นรนของชาร์ลีที่แม้จะรู้ว่าต้องพ่ายแพ้ในที่สุด หากก็ยังไม่ยอมลดละความพยายาม เป็นดั่งวีรกรรมของสามัญชนที่งดงามจับใจ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อยสักเพียงใด สิ่งที่มนุษย์เราจะทำได้มีเพียงความพยายามอย่างเต็มที่แล้วยอมรับผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ นวนิยายดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ความรู้หรือความเชี่ยวชาญใด ๆ หากไม่ประกอบด้วยความเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง ย่อมนำไปสู่ความทุกข์ทรมานได้อีกรูปแบบหนึ่ง  การเรียนรู้ที่จะยอมรับและทำใจให้เป็นสุขได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือบุคคลเช่นไร  เป็นเสมือนกุญแจที่จะเปิดประตูไปสู่ความเป็นจริง  ทั้งนี้เพราะชีวิตที่แท้นั้นไม่มีอะไรเป็นไปตามความคาดหวังของเรา ไม่ว่าจะพึงพอใจหรือไม่  ชีวิตก็ยังดำเนินไปอย่างที่พึงจะเป็นตลอดกาล

Posted in books | 2 Comments »