The Countryside of Chithurst

Reflections of Buddhist monastic life in England

Archive for the ‘Cutural reflections’ Category

เรื่องของคนเลี้ยงไก่

Posted by phrajew บน มีนาคม 9, 2007

 

หลายวันก่อนมีโอกาสสนทนากับเพื่อนที่แวะมาอ่านข้อเขียนในบล็อก  พอบอกไปว่าไม่ค่อยมีคนแสดงความคิดเห็นกันเลย  ไม่เหมือนกับบล็อกอื่น ๆ ที่เคยได้อ่าน ก็ได้รับคำตอบทันควันมาว่า ของมันแน่อยู่แล้ว คนเขารู้ว่าเป็นพระ ใครที่ไหนจะกล้าเถียง  ยิ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับธรรมะด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่

 

ลองคิดดูแล้วก็คงจะจริง เพราะข้อเขียนที่ได้รับการตอบรับมากที่สุด คือ เรื่องที่เขียนเกี่ยวกับแมว หรือเรื่องราวทั่ว ๆ ไป  เมื่อใดก็ตามที่เริ่มเป็นเรื่องข้อคิดทางธรรมะ แทบจะไม่มีคนตอบสนองเลยก็ว่าได้

 

ลักษณะเช่นนี้ดูจะต่างจากคนตะวันตกที่ได้สนทนาด้วย  เพราะไม่ว่าจะพูดในประเด็นใด ดูจะมีความคิดเห็นหรือมีคำถามให้โต้ตอบกันได้ไม่ขาดสาย  ครั้นลองสังเกตจากคนไทยที่มาวัด พบว่าน้อยคนนักที่จะเข้านั่งสนทนาหรือถามปัญหากับพระ  เวลาญาติโยมที่คุ้นเคยพาคนหน้าใหม่เข้ามาพูดคุยด้วยก็ต้องพยายามช่วยให้หายขัดเขินในระยะต้น ๆ กว่าจะกล้าตั้งคำถามหรือกล้าพูดคุยมากขึ้น

 

ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ เพราะในวัฒนธรรมไทยมีการแบ่งแยกสถานะกันอย่างเด็ดขาด  พระภิกษุกับญาติโยมอยู่กันคนละส่วนของสังคมและไม่ยุ่งเกี่ยวกันโดยไม่จำเป็น  เว้นแต่จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมักจะต้องสัมพันธ์กันแบบเป็นทางการเท่านั้น  ลักษณะเช่นนี้เลยพลอยทำให้เกิดความเข้าใจไปด้วยว่า ธรรมะเป็นเรื่องของพระ ไม่ใช่สิ่งที่ญาติโยมจะไปร่วมวงเสวนาด้วย

 

ทุกครั้งที่มีโอกาสสนทนากับคนที่มาเยี่ยมวัด ก็มักจะชวนพูดคุยเรื่องความสุขความทุกข์ของชีวิต และเรื่องอื่น ๆ ตามแต่เหตุการณ์จะพาไป  หลายคนบอกว่าไม่เคยรู้เลยว่าสามารถคุยเรื่องทำนองนี้กับพระได้ หรือแสดงความแปลกใจว่าทำไมวันนี้ถึงรู้สึกว่าธรรมะไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

 

ชีวิตของคนเราย่อมมีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นจากคนจำนวนมากอยู่แล้ว  การฟังจากพระเพิ่มเข้าไปอีกคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรมากนัก  ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครบังคับว่าให้ต้องเชื่อไปเสียทุกอย่าง หรือต่อให้บังคับ เราก็มีสิทธิที่จะไม่เชื่อได้อยู่ดี  นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งที่คนในสังคมซึ่งอ้างตัวว่าเป็นชาวพุทธอย่างสังคมไทย  แทบจะไม่ได้คำนึงถึงความเห็นทางศาสนาต่อการตัดสินใจใด ๆ ในสังคมเลย  ทั้ง ๆ ที่เปิดรับแนวคิดจากด้านอื่น ๆ ดังที่ปรากฏในสื่อมวลชนอยู่ตลอดเวลา 

นอกจากนี้แล้ว ท่าทีของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อพระ  ทำให้ได้รับประโยชน์จากธรรมะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  ทั้ง ๆ ที่สังคมไทยให้ความสนับสนุนเกื้อกูลต่อความเป็นอยู่ของพระได้อย่างไม่มีที่ใดเสมอเหมือน  เรื่องนี้ทำให้นึกถึงคำเปรียบของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า คนไทยเลี้ยงไก่แต่ไม่รู้จักกินไข่  นับเป็นคำเปรียบที่เห็นภาพชัดเจนนักแล

 

อย่างที่ได้เห็นมาในคณะสงฆ์ตะวันตกก็เช่นกัน  คนที่มาทำบุญถวายภัตตาหารส่วนใหญ่เป็นคนไทย หรือคนศรีลังกาที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอังกฤษ ส่วนคนที่มานั่งสมาธิและฟังการบรรยายธรรมในวันเสาร์อาทิตย์เป็นคนตะวันตกแทบทั้งหมด  ยิ่งช่วงที่เป็นการสนทนาอภิปรายกันเรื่องธรรมะด้วยแล้ว  อย่าหวังว่าจะได้เจอผู้ร่วมวงที่เป็นคนไทยเลย  เพราะล้วนแต่ติดธุระและมาไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น

 

เวลาที่ญาติโยมนิมนต์พระไปสวดในพิธีมงคลที่บ้าน มักจะมีบทสวดอยู่บทหนึ่งที่ได้ยินกันเป็นประจำ นั่นคือบทที่ว่าด้วยมงคลสามสิบแปดประการ  ความหมายของบทสวดนั้นลึกซึ้งมาก แต่ชะรอยว่าพระจะสวดในระหว่างที่คนส่วนใหญ่กำลังเพลิดเพลินอยู่กับการสนทนา จึงไม่อาจทำความเข้าใจได้ทัน  คนที่สนใจบทสวดนี้ก็ให้สังเกตวรรคสุดท้ายที่จะลงว่า เอตัมมังคะละมุตตะมัง อยู่ซ้ำ ๆ กันนับสิบรอบ  นั่นแหละบทที่กล่าวถึงนี้

 

ในลำดับแห่งการกระทำอันเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตนั้น เริ่มไปจากการไม่คบคนพาล เลือกคบแต่บัณฑิต ไปจนกระทั่งบรรลุธรรมขั้นสูง ทำจิตให้ปลอดโปร่ง ปราศจากความทุกข์ทั้งปวง  ในมงคลทั้งสามสิบแปดประการนี้มีอยู่สามข้อที่อาจเกี่ยวโยงกับประเด็นที่พูดคุยกันในครั้งนี้  นั่นคือ การเห็นสมณะ การฟังธรรมและการสนทนาธรรม ถือเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตด้วย  น่าคิดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

 

ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจมากที่สุด  การได้เห็นสมณะผู้ดำรงตนอยู่ในความสงบเสงี่ยมจึงเป็นเสมือนตัวอย่างของชีวิตอันประเสริฐ  ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตาม อีกทั้งมีกำลังใจด้วยว่า หากปฏิบัติได้ดีแล้วย่อมส่งผลเหมือนกันเช่นนั้น  นอกจากนี้การฟังธรรมและสนทนาธรรมยังก่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมะกว้างขวางลึกซึ้งขึ้น  เป็นโอกาสได้เรียนรู้แง่คิดและมุมมองต่าง ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน  ทำให้นำมาใช้เป็นหลักในการคิดของตนเองได้  หรืออย่างน้อยก็นำมาเปรียบเทียบกับวิธีคิดอื่น ๆ ที่เรารู้จัก เพื่อที่จะเลือกสรรในสิ่งที่เหมาะกับเราได้ต่อไป

 

สังคมไทยได้ก้าวผ่านยุคที่คนรุ่นย่าและยายจะพาหลานไปวัด และสอนให้รู้จักวิธีติดต่อสัมพันธ์กับพระไปแล้ว  คนรุ่นใหม่จึงเริ่มต่อไม่ติดกับวัฒนธรรมดั้งเดิม  เวลาเจอพระทีไรจึงรู้สึกเกร็ง ไม่รู้จะทำอย่างไร และอยากถอยไปให้ห่าง ทำให้ใช้ชีวิตแยกขาดจากวัดมากขึ้นเรื่อย ๆ  และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคำสอนที่ประยุกต์ใช้กับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างหลากหลาย  บางที เราอาจต้องหันมาเรียนรู้ท่าทีที่ว่านี้จากคนตะวันตกก็เป็นได้

Posted in Cutural reflections, Life in general | 3 Comments »

ความเงียบที่ไม่มีปัญหา

Posted by phrajew บน กุมภาพันธ์ 23, 2007

 

ก่อนที่เข้าสู่เทศกาลจำศีลในช่วงฤดูหนาว เริ่มสัมผัสได้ถึงความเอาจริงเอาจังของคนในวัดมากกว่าปกติ  มีการพูดคุยตกลงในที่ประชุมว่าควรจะตั้งกติกาอะไรเป็นพิเศษบ้างเพื่อให้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  ข้อเสนอให้ปิดวาจาตลอดทั้งสามเดือนทำท่าว่าจะได้รับความเห็นชอบจากหลายฝ่าย   จึงจำเป็นต้องรีบออกความเห็นเป็นการด่วน

 

เหตุที่ต้องทักท้วงนั้น เพราะประสบการณ์บอกให้รู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ทุกคนเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติธรรม บรรยากาศภายในวัดก็จะเปลี่ยนแปลงไป  ความตึงเครียดมักจะปรากฏขึ้น  ตะกอนที่เคยตกค้างภายในใจของแต่ละคนจะพลุ่งขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย  ช่วงเวลาเช่นนี้จึงค่อนข้างวิกฤตและต้องระมัดระวังที่จะประคับประคองจิตใจของแต่ละคนให้ดี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศโดยรวม

 

เวลาที่ไม่พูดกันนั้น แม้จะมีข้อดีว่าแต่ละคนจะมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้นและได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจหลายแง่มุมที่ไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตปกติ  แต่ก็มีข้อด้อยอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะความเข้าใจผิดอันเกิดจากกิริยาท่าทีและความเฉยชานั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก  คนที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติน้อย มักจะจัดการกับความรู้สึกด้านลบภายในใจไม่ค่อยได้  และทำให้กลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้ 

ดังนั้น การตั้งกติกาเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องเป็นไปโดยละมุนละม่อมและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนด้วย  การคาดหวังให้ทุกคนทำอะไรอย่างเท่าเทียมกันทุกประการมักจะเป็นความคาดหวังเกินจริง และนำไปสู่ความผิดหวังได้เสมอ 

หลวงพ่อสุเมโธเคยให้ความเห็นว่า พระฝรั่งมักจะชอบตั้งกติกาแล้วเอาจริงเอาจังมากเกินไป หากมีใครฝ่าฝืนกติกาแล้วเป็นอันต้องหงุดหงิดขุ่นเคืองทุกครั้ง  หนักเข้าก็กลายเป็นข้อขัดแย้งในวงประชุมซึ่งมักจะทำให้ปัญหาปานปลายไปกันใหญ่ 

จากประสบการณ์ที่ได้อยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ตะวันตก ทำให้เห็นพ้องกับหลวงพ่ออย่างไม่ต้องสงสัย  แต่เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า คนที่ชอบสนับสนุนให้ตั้งกติกาอย่างเคร่งครัด มักจะเป็นคนที่หงุดหงิดง่ายกว่าใคร และบ่อยครั้งที่ความหงุดหงิดนั้นพลอยทำให้ตัวเองไม่อาจจะรักษากติกานั้นไปด้วย  หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่อาจจะรักษากติกานั้นได้ด้วยความสงบสุข

 

หลายคนมักจะลืมไปว่า กติกาทั้งหลายภายในวัดนั้นตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติธรรม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อความผาสุกร่มเย็นเป็นสำคัญ  แต่หากกติกานั้นทำให้เกิดความรุ่มร้อนขึ้นมาในใจ บุคคลนั้นจำเป็นต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับท่าทีในการปฏิบัติธรรมของตนเอง  ถ้าเห็นว่าการกระทำอย่างใดเป็นเรื่องที่ดี แต่คนอื่นไม่ยอมปฏิบัติเหมือนกับตนเอง ก็ไม่เห็นว่าจะต้องขุ่นเคืองใจที่ตรงไหน  เพราะในท้ายที่สุดต่างคนต่างก็จะได้รับผลจากการกระทำของตนอยู่แล้ว  ดังนั้น  แต่ละคนจึงมีหน้าที่สร้างความพอใจกับการปฏิบัติของตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่นให้ยุ่งยากซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก 

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ปุถุชนนั้นยากเหลือเกินที่จะไม่ให้เปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น  ถ้าไม่เป็นเพื่อทำให้รู้สึกว่าตนเองดีกว่า ก็ทำให้ใจเศร้าหมองที่ไม่อาจจะทำได้อย่างคนที่คิดเปรียบเทียบด้วย  แต่ละคนจึงต้องพยายามรู้เท่าทันกิเลสภายในใจของตัวเอง และไม่ปล่อยให้มันเล่นกลเอากับความรู้สึกเป็นทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า   

ถ้ามีท่าทีที่ถูกต้องแล้ว ต่อให้ปิดวาจาไม่พูดคุยกันนานแค่ไหนก็ไม่มีปัญหา กลับดีเสียอีกที่จะไม่ต้องสรรหาถ้อยคำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ   แต่ลักษณะเช่นที่ว่านี้เกิดขึ้นได้น้อยนัก  ตั้งแต่บวชมาสิบกว่าปีก็เห็นไม่กี่ครั้ง และแต่ละครั้งก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เสียด้วย

 

เคราะห์ดีที่คนส่วนใหญ่ในที่ประชุมมีความเห็นคล้อยตามกัน  ข้อตกลงจึงเป็นว่า แต่ละคนควรพยายามรักษาความเงียบสงบเพื่อช่วยกันประคับประคองการปฏิบัติธรรมให้เป็นไปด้วยดี  แต่หากจำเป็นต้องพูดคุยจริง ๆ ก็สามารถทำให้โดยหาสถานที่อันเหมาะสมและไม่เอิกเกริกจนเกินไป  ไม่ถือว่าการปิดวาจาเป็นข้อบังคับที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม  ยกเว้นบางช่วง เช่น สองสัปดาห์แรกและสองสัปดาห์หลังที่มีการปฏิบัติอย่างเข้มข้น ทุกคนจึงควรที่จะปิดวาจาอย่างเคร่งครัด  กติกาอย่างหลังนี้ดูเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าเดิม

 

บางครั้งคนเราก็ต้องอาศัยความยืดหยุ่น ในการหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์แห่งทุกข์ด้วยเช่นกัน  เพราะหากขืนเดินหน้าอย่างเดียว บางครั้งอาจพลัดตกลงเหวได้โดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้  ข้อคิดของหลวงพ่อชาที่เตือนให้ระลึกว่า ในถูกมีผิด ในผิดมีถูกจึงยังคงใช้การได้ในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมตะวันตกดังที่ได้เห็นมา 

Posted in Cutural reflections, Life in general | Leave a Comment »

บ้านใกล้เรือนเคียง

Posted by phrajew บน กุมภาพันธ์ 16, 2007

 

บริเวณที่ตั้งของวัดป่าจิตวิเวกเป็นเขตชนบทของแคว้นซัสเส็กส์  มีบ้านเรือนขึ้นอยู่ห่าง ๆ กัน พื้นที่บางส่วนเป็นฟาร์มหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่  เป็นที่รู้กันว่าบริเวณนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของคนที่มีฐานะร่ำรวยเป็นส่วนใหญ่  ชนชั้นกลางหรือชนชั้นแรงงานนั้นต่างพักอาศัยอยู่ในเมืองซึ่งมีกิจการสาธารณูปโภคที่ดีกว่า  ต่างจากการอยู่นอกเมืองซึ่งต้องอาศัยทั้งพาหนะส่วนตัวและต้องใช้เงินในการบำรุงรักษาอาคารสถานที่มากกว่ากันเยอะ 

สภาพที่ว่านี้ดูเหมือนจะกลับกันกับเมืองไทยที่คนยากจนอยู่ตามชนบท  แต่ถ้าสังเกตให้ดีแล้ว อาจเห็นแนวโน้มที่จะเป็นเหมือนอังกฤษอยู่บ้างเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่เขตอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีคนจากเมืองหลวงไปสร้างบ้านแปงเรือนอยู่กันมาก หรืออย่างพื้นที่เขตอำเภอวังน้ำเขียว หรือปากช่องที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้

 

ในบรรดาเพื่อนบ้านของเราทั้งหมด ชื่อของซาร่าห์ ไมลส์ดูจะโดดเด่นกว่าใครอื่น  เพราะนอกจากเธอจะเป็นอดีตนักแสดงที่มีชื่อเสียงในระดับได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำฝ่ายหญิงแล้ว   เธอยังมีอุปนิสัยส่วนตัวที่ไม่เหมือนใคร อาทิเช่น เธอมีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณของต้นไม้เป็นอย่างยิ่ง เวลาที่ใครจำเป็นต้องตัดต้นไม้ หรือเกิดพายุพัดต้นไม้โค่นลง เธอก็จะถึงกับหวีดร้องคร่ำครวญให้ได้ยินกันถ้วนทั่ว  ที่ว่ามานี้ยังไม่เคยได้ยินด้วยตนเองแต่มีคนเล่าให้ฟังตรงกันหลายราย

 

ในบริเวณบ้านของซาร่าห์ซึ่งติดกับพื้นที่วัดนั้น มีน้ำพุโบราณอยู่บ่อหนึ่งที่ได้รับการอ้างถึงในปูมบันทึกดูมเดยส์ซึ่งเป็นเสมือนการสำมะโนประชากรครั้งแรกของโลก  โดยปกติแล้วเธอยินดีให้พระและคนในวัดเข้าไปเยี่ยมชมหรือตักเอาน้ำพุมาใช้ได้ตามสะดวก  แต่วันดีคืนดี เธอก็ให้คนเอากิ่งไม้มาล้อมกั้นเอาไว้เสียอย่างนั้น  พอมีคนถามเข้า เธอก็ว่าไม่มีอะไร แค่กั้นคนภายนอกเข้ามาเท่านั้นเอง  (พึงเข้าใจด้วยว่าคนอังกฤษน้อยคนนักที่จะเดินออกนอกเส้นทางสาธารณะ อย่าว่าแต่เดินเข้าเขตบ้านคนอื่นเลย)

 

มีคนเล่าให้ฟังว่าสมัยที่ยังสาวนั้น เธอมีชื่อเสียงอื้อฉาวไม่เบาเหมือนกัน  แม้กระทั่งทุกวันนี้ บุคลิกของเธอยังคงมาดมั่นและพูดจาโผงผางระคนด้วยคำไม่สุภาพจนนักข่าวบางคนให้ฉายาเธอว่า ‘the lady with a truck driver’s mouth’ ซึ่งจะขออนุญาตไม่แปลให้ฟัง  รู้แต่ว่าเมื่อเพื่อนชาวอังกฤษได้ยินประโยคนี้เข้าก็แทบจะหัวเราะกลิ้งในความสมจริงตามฉายา

 

อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าซาร่าห์นั้นเป็นเพื่อนบ้านเก่าแก่ของวัดมาตั้งแต่ต้น และยังคงญาติดีกับพระในวัดอยู่พอสมควร  บางคราวเธอก็พาเพื่อนฝูงมาเยี่ยมหรือ มาร่วมกิจกรรมที่วัดบ้างแต่ไม่บ่อยครั้งนัก

 

เย็นวันหนึ่งขณะที่ยืนสนทนากับนักปฏิบัติธรรมชาวอังกฤษคนหนึ่งในห้องครัว  ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินจูงหมาเข้ามา เธอส่งเสียงมาแต่ไกลว่า มีคนบอกให้เธอเข้ามาดื่มน้ำชาได้ที่นี่  เมื่อเข้ามาใกล้จึงได้รู้ว่าเป็นซาร่าห์นั่นเอง  เธอเพิ่งกลับจากกิจกรรมหลักในชีวิตของคนอังกฤษ นั่นคือ การพาหมา (และเจ้าของหมา) ออกไปเดินเล่น แล้วเกิดนึกอยากจะเข้ามาเยี่ยมวัดขึ้นมา  เรื่องน้ำชานั้นเห็นจะเป็นข้ออ้างเสียมากกว่าเพราะเดินไปอีกไม่เท่าไหร่ก็ถึงบ้านของตัวเองแล้ว และไม่เห็นว่าเธอจะอินังขังขอบอะไรกับน้ำชามากนัก 

ชั่วเวลาไม่กี่นาทีต่อจากนั้น ซาร่าห์ก็แปลงพื้นที่ห้องครัวให้กลายเป็นเวทีละครส่วนตัว  เธอเล่าเรื่องราวเก่า ๆ ของวัดให้ฟังอย่างออกรสออกชาติ มีทั้งน้ำเสียงและลีลาท่าทางประกอบ อีกทั้งเคลื่อนย้ายไปทั่วทุกบริเวณ  เคราะห์ดีที่มีโต๊ะตัวใหญ่คั่นระหว่างเราไว้ ไม่อย่างนั้นเกรงว่าเธอจะบุกเข้ามาประชิดถึงตัวเป็นแน่  เมื่อเล่าเสร็จเธอก็ประกาศเสียงก้องว่าไม่ชอบใจระบบอาวุโสภายในวัดเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมที่สุด  ยามที่เธอเห็นแม่ชีต้องเดินตามหลังพระและต้องคอยนอบน้อมกับพระแล้วรู้สึกสะเทือนใจจนทนไม่ไหว  ครั้งหนึ่งเธอถึงกับคบคิดกับเพื่อนที่จะทำศูนย์ nun’s line เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์จากแม่ชีโดยเฉพาะ 

ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เธอเล่าเป็นเรื่องจริงตามที่รู้สึก หรือเติมสีสันลงไปแบบนักแสดงกันแน่  พระไทยที่ยืนฟังอยู่อดยิ้มไม่ได้  แกล้งแย้งเธอไปว่า หากแม่ชีมีความทุกข์กันมากถึงเพียงนั้น เหตุไฉนจึงมีคนเข้าคิวรอบวชถึงสิบเจ็ดคนกันเล่า  พอได้ฟังดังนั้นเธอก็ทำตาโต เปลี่ยนท่าทีแบบฉับพลัน พร้อมทั้งแสดงความพิศวงถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของคณะแม่ชี

 

สิ่งที่ดูน่าทึ่งสำหรับซาร่าห์คือ ตลอดระยะเวลาที่เธออยู่ในห้องนั้น ไม่รู้สึกเลยแม้แต่น้อยว่าเธออายุมากแล้ว  เพราะพลังของเธอยังดูเหมือนกับนักแสดงในวัยประมาณสี่สิบ  ต่อเมื่อเธอท้าวแขนลงบนโต๊ะ จึงได้เห็นมือที่โผล่พ้นออกมาจากแขนเสื้ออย่างใกล้ชิด  ผิวที่เหี่ยวย่นนั้นบอกให้รู้ถึงอายุที่แท้จริงของเธอซึ่งเกินกว่าเจ็ดสิบแล้ว (ขออนุญาตย้ำอีกทีว่าเจ็ดสิบ!!!)

 

เห็นแล้วนึกถึงหลวงพ่อชาที่ให้ความคิดเห็นต่อผู้หญิงฝรั่งที่ท่านได้พบ ในคราวที่มาเยือนประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกว่า บางคนแก่แล้ว ยังทาปากแด๊งงงงงงงง…..’ ไม่รู้ว่าหากหลวงพ่อได้พบกับซาร่าห์ ท่านจะให้ความเห็นเช่นไร 

 

หลังจากจิบน้ำชาหมดถ้วย ซาร่าห์ก็มีอันต้องอำลาเวทีไปแบบปุบปับ  ผู้ชมสองคนที่ยืนอยู่ตรงนั้นหันมามองหน้ากันแล้วอดยิ้มไม่ได้  เราออกปากบอกเธอไปว่า ขอบคุณที่มาสร้างความบันเทิงให้ในวันนี้  เธอจูงหมาออกไปด้วยสีหน้าพออกพอใจ พลางโบกมือให้เราด้วยมาดของนักแสดงรุ่นใหญ่

 

นาน ๆ ที ชีวิตก็มีสีสันแปลกตาให้ได้เห็นเหมือนกัน

Posted in Cutural reflections, Life in general | Leave a Comment »