The Countryside of Chithurst

Reflections of Buddhist monastic life in England

ยอมไม่ได้เพราะไม่ยอม

Posted by phrajew บน ตุลาคม 19, 2006

 

ในระหว่างการประชุมประจำสัปดาห์ พระนวกะรูปหนึ่งทำหน้ามุ่ยอย่างเห็นได้ชัด เมื่อได้ยินว่าพระอีกรูปมีโอกาสไปร่วมงานทอดกฐินที่ฮาร์นัม  เหตุที่ทำให้ท่านรู้สึกเคืองเพราะเคยเสนอตัวเป็นลำดับแรก แต่ไม่ได้รับเลือกเนื่องจากที่พักไม่พอ  มีเพียงพระผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีโอกาสได้ไป ท่านก็อุตส่าห์ทำใจยอมรับแม้จะรู้สึกผิดหวังอยู่ไม่น้อย  แล้วไฉนอยู่ ๆ พระอีกรูปจึงสามารถแทรกคิวเข้ามาได้อย่างนี้  

 

ด้วยความที่เป็นพระภิกษุ  สถานการณ์เฉพาะหน้าและวิถีการปฏิบัติทำให้ไม่สามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้ดังใจ  ท่านจึงได้แต่เก็บความขุ่นเคืองไว้  ก่อนที่จะบ่นกับเพื่อนพระที่สนิทกันภายหลังการประชุม

 

หากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับพระไทย  ทุกสิ่งทุกอย่างคงต้องเลยตามเลย เพราะใช้นโยบายแล้วแต่ผู้ใหญ่จะตัดสินใจ  แม้หลายสิ่งไม่เป็นไปตามที่ต้องการก็ยกให้ว่า ท่านคงมีเหตุผลของท่าน  แต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก ทางออกหนึ่งเดียวคือต้องซักถามกันให้รู้เรื่องว่าเหตุผลเป็นอย่างไรกันแน่  จะให้นั่งทำใจเฉย ๆ เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้ 

พอได้รับคำชี้แจงว่า พระอีกรูปได้รับนิมนต์เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ไปช่วยทำเว็บไซต์  คิ้วที่ขมวดอยู่ก็คลายลง  สีหน้าโล่งอกโล่งใจเมื่อเหตุผลนั้นเป็นที่ ยอมรับได้  ความขุ่นข้องหมองใจเลือนลงไปและกลับมายิ้มแย้มได้ดังเดิม 

คนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์อดนึกไม่ได้ว่า หากเหตุผลนั้นไม่เป็นที่ยอมรับ อะไรจะเกิดขึ้น  แล้วระยะเวลาที่รู้สึกหงุดหงิดขุ่นเคืองอยู่กว่าสองชั่วโมง  ไม่ใช่เวลาที่สูญเปล่าหรอกหรือ  เพราะท้ายที่สุดแล้วก็ไม่เห็นว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง  นอกจากต้องทำใจยอมรับเช่นเดิม 

เรื่องที่เล่ามานี้ ไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางอารมณ์ของพระที่กำลังฝึกฝนตนเองไม่ได้ต่างไปจากปุถุชนทั่วไปเท่านั้น  แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของกระบวนการทำงานในจิตใจได้อีกด้วย  เพราะเราทั้งหลายต่างก็มีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันอยู่ไม่มากก็น้อย  การเรียนรู้จากพฤติกรรมผู้อื่นมักจะเห็นได้ชัดกว่าการมองตัวเองเสมอ 

หลายครั้งที่ความรู้สึกขุ่นเคืองเกิดจากการไม่รู้ความจริง  ใจของเรานึกคิดปรุงแต่งไปตามข้อมูลเดิมที่มีอยู่  แล้วก็เชื่อไปตามความคิดนั้น  เราจึงหลงโกรธอย่างเต็มที่  แถมยังมีเหตุผลให้ตัวเองเสียด้วยว่า เป็นเรื่องที่สมควรโกรธเป็นอย่างยิ่ง 

 

ต่อเมื่อได้รับรู้ความจริงแล้วเท่านั้น  ความโกรธจึงหายไปเหมือนปลิดทิ้ง  เพราะความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่เรานึกคิดปรุงแต่งเอาไว้เลย

ความนึกคิดปรุงแต่งของเราเป็นไปได้ต่าง ๆ นานา อาทิ เขาไม่เห็นคุณค่าของเรา  เขาตั้งใจดูถูกดูหมิ่นเรา  เขาทำไม่ถูกต้องตามหลักการ  เขาไม่ยุติธรรม  เขาทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ  เขา……. ฯลฯ  ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการมองออกไปที่ เขาซึ่งอยู่นอกตัวทั้งสิ้น 

หากมีโอกาสย้อนดูตัวเองจะเห็นว่า ภายในใจขณะนั้นเต็มไปด้วยความนึกคิดที่วุ่นวายสับสน  และยิ่งเชื่อความเห็นของตัวเองมากเพียงใด ยิ่งหาความสงบไม่พบมากเท่านั้น  คำถามที่ควรจะเตือนตัวเองบ่อย ๆ คือ ในภาวะอย่างนี้ เราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์กันแน่ 

หากทำใจยอมรับเสียง่าย ๆ ว่า ทุกอย่างมันก็เป็นไปของมันอย่างนั้นเอง อย่างน้อยความสงบในใจก็เกิดขึ้น  ทำให้เรามีเวลาที่จะชื่นชมกับความงดงามเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบข้าง  ก่อนที่ความจริงจะปรากฏให้เรารับรู้  เรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องขวนขวายไปรับรู้ให้เปลืองแรง เพราะหากมีเหตุจะให้รู้ก็ต้องรู้เข้าจนได้  ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง 

และต่อให้ความจริงเป็นอย่างที่คิดไว้จริง ๆ  เราก็ยังไม่มีเหตุที่จะโกรธหรือขุ่นเคืองอยู่ดี  เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องที่เราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น  ถึงจะไม่พอใจอย่างไร ทุกอย่างก็ไม่เปลี่ยนไปตามความต้องการของเราอยู่ดี  และถ้าจะมัวหงุดหงิดกับเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราย่างนี้  เห็นทีจะต้องหงุดหงิดไปทั้งชาติเป็นแน่

 

ในชาตินี้ ถึงไม่อาจจะทำใจให้ปราศจากความขุ่นเคืองได้อย่างหมดจดสิ้นเชิง  แต่การรู้จักทำใจให้เป็นสุขง่ายขึ้นแม้เพียงน้อยนิด ก็เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การลงมือทำ

ใส่ความเห็น